งานวิจัยในชั้นเรียนเรื่องการใช้ผังมโนทัศน์

ฉัตรบงกช  ศรีวัฒนสาร




คำว่า “ประวัติศาสตร์” มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า “Historia” แปลว่า “Inquiry” หมายถึง การค้นคว้าหาความจริงอย่างวิเคราะห์และเห็นภาพรวมของเหตุการณ์ต่างๆอย่างชัดเจน

หลักฐานประวัติศาสตร์ จำแนกเป็น ๓ ประเภท คือ งานเขียนที่จงใจบันทึกไว้ ได้แก่ บันทึกความทรงจำ ประวัติบุคคล บันทึกชาวต่างชาติ วิทยาการความรู้ต่างๆ ซึ่งอาจมีอคติของผู้บันทึกปรากฏอยู่ในหลักฐานนั้นได้ หลักฐานอีกประเภทหนึ่งคือ หลักฐานที่หลงเหลือโดยไม่ตั้งใจ ได้แก่ วรรณคดีร่วมสมัย ประกาศต่างๆของทางราชการ หนังสือพิมพ์ และงานช่างศิลปกรรมต่างๆ ซึ่งค่อนข้างตรงกับเหตุการณ์มาก ประเภทที่สาม คือ หลักฐานที่เป็นเครื่องเตือนใจได้แก่ อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน และสิ่งก่อสร้างต่างๆ เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ มีคุณค่าต่อการเรียนรู้เรื่องราวในอดีตและวิทยาการต่างๆ ประวัติศาสตร์เป็นพื้นฐานของการทำความเข้าใจอดีตและปัจจุบัน รวมถึงเป็นบรรทัดฐานต่อการตัดสินใจในอนาคตในกิจกรรมทุกประเภทอย่างเหมาะสม บทบาทของบุคคลในประวัติศาสตร์เป็นแบบอย่างของจริยธรรมความดีงาม ความกล้าหาญ ความเป็นปึกแผ่นของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นเส้นแบ่งระหว่างความดี ชั่ว ของมนุษย์

มนุษย์เรียนรู้และนำประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์มาแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่ง อาจทำได้จากการศึกษาหลักฐานเอกสาร โบราณวัตถุ โบราณสถาน คำบอกเล่าของผู้รู้และสื่อต่างๆในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นรายการย้อนรอย รายการจดหมายเหตุกรุงศรี หรือรายการกระจกหกด้าน ทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ แต่ปัญหาความล้มเหลวในการเรียนรู้และถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในสถาบันการศึกษาอาจเกิดจากปัจจัยหลายด้าน อาทิ การมีทัศนคติว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องคร่ำครึ ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์มักจะเป็นคนสูงวัย แต่งตัวเชย มีบุคลิกภาพโบราณ คนทั่วไปเข้าใจว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของการท่องจำ ในขณะเดียวกันผู้เรียนวิชาประวัติศาสตร์อาจขาดการอ่านหรือการค้นคว้าอย่างเพียงพอ ซึ่งก็จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา เนื่องจากแท้ที่จริงแล้วกระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ต้องประกอบไปด้วยการทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการวิเคราะห์และอธิบายให้ทราบถึง ปัญหา สาเหตุ ปัจจัย แรงผลักดัน และผลกระทบเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ รวมถึงการบ่งชี้ให้เห็นความน่าเชื่อถือของเอกสารประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งล้วนแต่เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เข้าใจและรู้เท่าทันความคิดของคนทุกยุคทุกสมัย อันสอดคล้องกับปรัชญาทางพุทธศาสนา ซึ่งบางครั้งศาสตร์อื่นอาจไม่ได้สอนให้เข้าใจมนุษย์อย่างเหมาะสม ทั้งในเรื่องของการใช้ชีวิตและการปลูกฝังจริยธรรม

งานวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมการสร้างผังมโนทัศน์(Concept Map) เพื่ออธิบายเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และใช้กระบวนการทัศนศึกษาโบราณสถานเป็นเครื่องมือสะท้อนภาพของอดีตแก่นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชาความรู้เกี่ยวกับโบราณวัตถุสถานในท้องถิ่น วิชาโบราณคดีและวิชาถิ่นฐานไทย

ผู้วิจัยนำเสนอนวัตกรรมอันประกอบด้วยผังมโนทัศน์และการทัศนศึกษาเพื่อเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจและเกิดทัศนคติที่ดีต่อการเรียนในกลุ่มวิชาทางด้านประวัติศาสตร์ต่อไป

รายงานวิจัยชิ้นนี้จำแนกเนื้อหาออกเป็น ๖ บท ดังนี้

บทที่๑ บทนำ กล่าวถึง โครงการวิจัยและวิธีการศึกษาวิจัย

บทที่๒ สัมพันธภาพของประวัติศาสตร์กับผังมโนทัศน์ : นวัตกรรมแห่งบูรณาการ กล่าว

ถึงความหมายและความสำคัญของการใช้กิจกรรมการเรียนการสอนแบบใช้ผังมโน

ทัศน์ควบคู่ไปกับกิจกรรมการทัศนศึกษา

บทที่๓ ผังมโนทัศน์ในฐานะของนวัตกรรมการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์

บทที่๔ การวิเคราะห์ประสิทธิผลของนวัตกรรมผังมโนทัศน์และการทัศนศึกษา

บทที่๕ การประเมินผลการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทัศนศึกษาโดยมิได้ใช้นวัตกรรมผังมโน

ทัศน์

บทที่๖ การแปลความหมายและสรุปผลการวิจัย

ผู้วิจัยหวังว่ารายงานวิจัยฉบับนี้จะมีประโยชน์สำหรับนักวิชาการและผู้สนใจทั่วไป


กิตติกรรมประกาศ
ผู้วิจัยได้รับชี้แนะแนวทางการทำวิจัยในชั้นเรียนจาก รองศาสตราจารย์เทื้อน ทองแก้ว และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไสว ฟักขาว ส่วนเรื่องกระบวนการวิจัยในชั้นเรียนนั้นได้รับความรู้จาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นภาพร สิงหทัต และการฝึกปฏิบัติการเขียนเค้าโครงการวิจัย รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรม และการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับการวิจัยในชั้นเรียนนั้นได้รับความรู้จาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิไลพร วรจิตรานนท์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง

ขอขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุมาลี ไชยศุภรากุล คุณอารักษ์ หาญสันเทียะ และคุณจารุพงศ์ สายะโสภณ ที่กรุณาช่วยทำผลคะแนนจากแบบทดสอบทั้งหลายด้วยโปรแกรม SPSS และขอขอบคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์สินธะวา คามดิษฐ์ ผู้กรุณาช่วยอ่านค่าโปรแกรม SPSS อาจารย์ยุพยงค์ อู่เจริญ ผู้บันทึกภาพกิจกรรมทัศนศึกษา และอาจารย์พิทยะ ศรีวัฒนสาร อาจารย์ผู้สอนวิชาโบราณคดี ที่ให้ความร่วมมือในการวิจัยครั้งนี้เป็นอย่างดียิ่ง

งานวิจัยนี้จะสำเร็จลงมิได้หากผู้วิจัยไม่ได้รับโอกาสในการเข้าอบรมเรื่องการวิจัยในชั้นเรียนจากสำนักวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม อีกทั้งสำนักวิจัยและบริการวิชาการยังได้กรุณาอุดหนุนทุนวิจัยจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ซึ่งผู้วิจัยได้ใช้เงินดังกล่าวอย่างคุ้มค่าสมดังวัตถุประสงค์ของหน่วยงานที่ให้ทุนทุกประการ จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้เป็นอย่างยิ่ง



บทคัดย่อ



ชื่อโครงการวิจัย: การใช้ผังมโนทัศน์เพื่อพัฒนาศักยภาพการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยอย่าง

เป็นระบบ : ประเมินจากการทัศนศึกษาโบราณสถานในกรุงเทพมหานคร

และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ชื่อผู้วิจัย: นางฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ปีที่ทำการวิจัย : ๒๕๔๗

งานวิจัยชิ้นนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อวัดและจำแนกระดับการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และนำเสนอแนวทางในการเพิ่มศักยภาพของนักศึกษาในการเรียนวิชาดังกล่าว ผู้วิจัยจึงเสนอสมมุติฐานว่า นวัตกรรมผังมโนทัศน์และการทัศนศึกษาเป็นตัวแปรต้นที่ช่วยพัฒนาศักยภาพในการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย แบบทดสอบก่อนและหลังทัศนศึกษาเป็นตัวแปรตาม ที่ช่วยชี้วัดสัมฤทธิผลของการใช้นวัตกรรม

งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอนวัตกรรมการสร้างผังมโนทัศน์สำหรับการเรียนการสอนวิชาความรู้เกี่ยวกับโบราณวัตถุสถานในท้องถิ่น วิชาโบราณคดีและวิชาถิ่นฐานไทย และใช้กระบวนการทัศนศึกษาโบราณสถานเป็นเครื่องมืออธิบายเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และสะท้อนภาพอดีตในประวัติศาสตร์และอารยธรรมไทย

ผลที่ได้รับจากการวิจัยมีความสอดคล้องกับสมมุติฐานที่ตั้งเอาไว้ กล่าวคือ นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชาความรู้เกี่ยวกับโบราณวัตถุสถานในท้องถิ่น ซึ่งใช้ผังมโนทัศน์ในกิจกรรมการเรียนการสอน ส่งผลให้การทำแบบทดสอบหลังการทัศนศึกษาของนักศึกษาสูงขึ้นเกือบร้อยเปอร์เซ็น และสามารถแบ่งระดับการเรียนรู้ออกเป็น ๒ ระดับ คือ นักศึกษามีผลการเรียนรู้ระดับสูง ๒๘ คน มีผลการเรียนรู้ระดับปานกลาง ๒ คน เมื่อนักศึกษากลุ่มเดียวกันนี้ลงทะเบียนเรียนวิชาโบราณคดีโดยที่ผู้สอนมิได้ใช้นวัตกรรมผังมโนทัศน์ในการเรียนการสอน ทำให้ได้พบว่าผลของการทำแบบทดสอบหลังการทัศนศึกษากลุ่มนี้ มีคะแนนปรากฏออกมาแบบหลากหลาย และแบ่งระดับการเรียนรู้ออกเป็น ๒ ระดับ คือ มีผลการเรียนรู้ระดับปานกลาง ๒๑ คนและมีผลการเรียนรู้ระดับต่ำ ๙ คน ส่วนนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชาถิ่นฐานไทย ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่มีพื้นฐานการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีและเป็นนักศึกษาวิชาเอกสังคมศึกษา จึงทำให้สามารถทำแบบทดสอบหลังการทัศนศึกษาอยู่ในระดับสูง ๑๔ คน ระดับปานกลาง ๒๔ คน ส่วนระดับต่ำมีเพียง ๒ คน


Abstract



Research Title: Initiating on Innovation of Concept Maps to Develop the

Potential in Study Thai History : Evaluated from Field Trips in

Bangkok and Ayutthaya.

Researcher:

Mrs. Chatbongkoch Sriwattanasarn, lecturer, Division of History, Faculty of Humanities and Social Science, Rajabhat Chandrakasem University.

Year of Completion: 2004

Objective of this research is to examine and classify level of history knowledge of students and initiate methods to increase students’ potential in study history. About research’s hypothesis, the researcher believes that the conceptual maps and field trips, as learning innovations, is an independent variation that assist potential of studying and teaching the history subjects. Moreover, the pre-tour and post-tour test is a dependent variation that indicates accomplishment of using innovations.

The research aims to submit the concept maps to use as the innovation of study three subjects, such a Knowledge of Local Ancient Monuments and Objects, Archaeology and Thai Nation. According to the research objectivity, the researcher try to use fields trips of ancient monuments to be the necessary instruments to reflect Thai Civilization and History.

After finishing the post-tour test, it is revealed that students who registered the subject of Knowledge of Local Ancient Monuments and Ancient Objects, with application of the concept map as the education instruments, could almost develop higher level of study potential at all. And by result of the post-tour test of this group, level of their learning potential can be classified into 2 groups, such as high level of 28 students and medium level of only 2 students. When this group registered the subject of Archaeology in 1st semester of year 2004, without applying of the concept map, result of the post-tour test revealed very variably and it could be classified level of learning potential of students into 2 poor groups, such as medium level group of 21 students and lower level group of 1 student. Students who had been registered the subject of Thai Nation which basically being better grading students than the former group, could have been classified into 3 groups of learning potential levels, after the post-tour test, such as 14 students of high level group, 24 students of medium level group and 2 students of lower level group.





สารบัญ

คำนำ……………………………………………………………………………………….…..๑

กิตติกรรมประกาศ……………………………………………………………………………๓

บทคัดย่อ……………….………………………………………………………………………๔

Abstract……………….………………………………………………………………….…….๕

สารบัญ……………..…………………………………………………………………………..๖

บทที่๑ บทนำ…………………………………………………………………………………..๙

๑.๑ ชื่อโครงการวิจัย……………………………………………………………………..

๑.๒ ชื่อผู้วิจัย…………………………………………………………………………….

๑.๓ ปีที่ทำการวิจัย………………………………………………………………………

๑.๔ สมมติฐาน………………………………………………………………………….

๑.๕ วัตถุประสงค์ของงานวิจัย…………………………………………………………..

๑.๖ ขอบเขตของงานวิจัย………………………………………………………………..

๑.๘ เป้าหมายการวิจัยและกลุ่มเป้าหมาย……………………………………………….

๑.๙ วิธีการวิจัย……………………………………………………………………………

๑.๑๐ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย (นวัตกรรม)………………………………………………

๑.๑๑ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ…………………………………………………………

๑.๑๒ ทบทวนวรรณกรรม (Review Literature)…………………………………………

๑.๑๓ สภาพพฤติกรรมการเรียนการสอน………………………………………………..

๑.๑๔ คำสำคัญในงานวิจัย………………………………………………………………..

บทที่ ๒ สัมพันธภาพของประวัติศาสตร์กับผังมโนทัศน์: นวัตกรรมแห่งบูรณาการ……๑๔

๒.๑ ประวัติศาสตร์คืออะไร……………………………………………………………..

๒.๒ คุณค่าของประวัติศาสตร์………………………………………………………….

๒.๓ มโนทัศน์คืออะไร……………………………………………………………………

๒.๔ ความหมายของการคิดเชิงมโนทัศน์………………………………………………..

๒.๕ ความสำคัญของการสอนแบบจัดกรอบมโนทัศน์…………………………………..

๒.๖ ทฤษฏีการเรียนรู้ที่เป็นพื้นฐานในการสร้างกรอบมโนทัศน์………………………….

๒.๗ หลักพื้นฐานของทฤษฏีการเรียนรู้ของออซูเบล………………………………………

๒.๘ ประโยชน์ของการคิดเชิงมโนทัศน์ ……………………………………………………

๒.๙ รูปแบบกรอบมโนทัศน์……………………………………………………………

บทที่๓ ผังมโนทัศน์ในฐานะของนวัตกรรมการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์……………….๑๙

๓.๑การสร้างนวัตกรรมเสริมศักยภาพการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย………..

๓.๒ รูปแบบของผังมโนทัศน์ที่ใช้ในการเรียนการสอน

ก่อนการทัศนศึกษาโบราณสถานในเกาะรัตนโกสินทร์………………………………

๓.๓ การวิเคราะห์เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย………………………………………………

๓.๔ การวิเคราะห์แบบทดสอบก่อนทัศนศึกษาโบราณสถานในเกาะรัตนโกสินทร์………

๓.๕ การวิเคราะห์แบบทดสอบหลังทัศนศึกษาโบราณสถานในเกาะรัตนโกสินทร์……….

บทที่๔ การวิเคราะห์ประสิทธิผลของนวัตกรรมผังมโนทัศน์และการทัศนศึกษา………..๒๗

๔.๑ การวิเคราะห์ผลการทดสอบระดับการเรียนรู้ก่อนทัศนศึกษาโบราณสถาน

ในเกาะรัตนโกสินทร์…………………………………………………………………

๔.๒.๑ ผลจากการวิเคราะห์ระดับการเรียนรู้ของนักศึกษา

จากแบบทดสอบก่อนและหลังการทัศนศึกษา

ด้วยโปรแกรมวิเคราะห์ผลทางสถิติสำเร็จรูป (SPSS)……………………

๔.๑.๒ การแปลความหมายของผลการวิเคราะห์ข้อมูลระดับการเรียนรู้

ของนักศึกษา จากแบบทดสอบก่อนและหลังการทัศนศึกษา

โบราณสถานในเกาะรัตนโกสินทร์………………………………………….

๔.๒ การวิเคราะห์ผลการทดสอบหลังทัศนศึกษาโบราณสถาน

ในเกาะรัตนโกสินทร์…………………………………………………………………

๔.๓ การวิเคราะห์ผลคะแนนจากการทำแบบทดสอบก่อนและ

หลังการทัศนศึกษาโบราณสถานในเกาะรัตนโกสินทร์ของนักศึกษา

ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาความรู้เกี่ยวกับโบราณวัตถุสถานในท้องถิ่น……………………

บทที่๕ การประเมินผลเรียนรู้ผ่านกระบวนการทัศนศึกษาโดยมิได้ใช้นวัตกรรม

ผังมโนทัศน์ ………………………………………………………………….………๔๐

๕.๑ การวิเคราะห์แบบทดสอบก่อนทัศนศึกษาโบราณสถานในเขต

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาของนักศึกษาที่ลงทะเบียน

เรียนวิชาโบราณคดีและวิชาถิ่นฐานไทย…………………………………………..

๕.๒ การวิเคราะห์แบบทดสอบหลังการทัศนศึกษาโบราณสถาน

ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา……………………………………

๕.๓ ผลการทดสอบก่อนและหลังทัศนศึกษาโบราณสถานในเกาะรัตนโกสินทร์

และอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาของนักศึกษาโปรแกรม

วิชาวัฒนธรรมศึกษา……………………………………………………………….

๕.๓.๑ ผลจากการวิเคราะห์ระดับการเรียนรู้ของนักศึกษาจากแบบทดสอบ

ก่อนและหลังการทัศนศึกษาด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ(SPSS)………

๕.๓.๒ การแปลความหมายของผลการวิเคราะห์ข้อมูลระดับการเรียนรู้

ของนักศึกษาจากแบบทดสอบก่อนและหลังการทัศนศึกษา

ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา…………………………………

๕.๔ ผลการทดสอบก่อนและหลังการทัศนศึกษาโบราณสถานใน

เขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาของนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียน

วิชาถิ่นฐานไทย…………………………………………………………………..

๕.๔.๑ผลการทดสอบก่อนการทัศนศึกษาโบราณสถาน………………………..

๕.๔.๒ผลการทดสอบหลังการทัศนศึกษาโบราณสถาน………………………..

๕.๕ การเปรียบเทียบสรุปผลคะแนนจากการทำแบบทดสอบก่อนและหลัง

การทัศนศึกษาโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์

พระนครศรีอยุธยาของนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนโบราณคดี

และวิชาถิ่นฐานไทย………………………………………………………………..

บทที่๖ การแปลความหมายและสรุปผลการวิจัย………………………………………..๖๐

๖.๑ การประเมินผลก่อนและหลังการทัศนศึกษาโบราณสถานในเกาะรัตนโกสินทร์

๖.๒ ผลการวิเคราะห์เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลก่อนและหลัง

การทัศนศึกษาโบราณสถานในเกาะรัตนโกสินทร์

เชิง SWOT Analysis Strategy………………………………………………….

๖.๓ การแปลความหมายจากการวิเคราะห์แบบทดสอบก่อนและหลัง

การทัศนศึกษา โบราณสถานในเกาะรัตนโกสินทร์……………………………….

๖.๔ อภิปรายและเสนอแนะสำหรับการประเมินผลก่อนและหลัง

การทัศนศึกษาอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา……………………….

บรรณานุกรม…………………………………………………………………….………..๖๔

Bibliography…………………………………………………………………..…………..๖๔

ภาคผนวก………………..………………………………………………………………..๖๕

-ผนวก๑ กำหนดการทัศนศึกษาโบราณสถานในเกาะรัตนโกสินทร์……………………

-ผนวก๒ กำหนดการทัศนศึกษาอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา……………..

ภาพประกอบ………………………………………………………………………………๖๘

ประวัติผู้วิจัย………………………………………………..……………………………..๗๙



บทที่ ๑

บทนำ



๑.๑ ชื่อโครงการวิจัย:

-ภาษาไทย : การใช้ผังมโนทัศน์เพื่อพัฒนาศักยภาพการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยอย่าง

เป็นระบบ : ประเมินจากการทัศนศึกษาโบราณสถานในกรุงเทพมหานคร

และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

-ภาษาอังกฤษ : Initiating on Innovation of Concept Maps to Develop the

Potential in Study Thai History : Evaluated from Field Trips in

Bangkok and Ayutthaya.

๑.๒ ชื่อผู้วิจัย: นางฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

๑.๓ ปีที่ทำการวิจัย : ๒๕๔๗

๑.๔ สมมติฐาน

นวัตกรรมผังมโนทัศน์และการทัศนศึกษาเป็นตัวแปรต้นที่ช่วยพัฒนาศักยภาพในการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย แบบทดสอบก่อนและหลังทัศนศึกษาเป็นตัวแปรตามที่ช่วยชี้วัดสัมฤทธิผลของการใช้นวัตกรรม

๑.๕ วัตถุประสงค์ของงานวิจัย

๑.นำเสนอนวัตกรรมการสร้างผังมโนทัศน์(Concept Map) สำหรับการเรียนการสอนวิชาความรู้เกี่ยวกับโบราณวัตถุสถานในท้องถิ่น วิชาโบราณคดีและวิชาถิ่นฐานไทย

๒ใช้กระบวนการทัศนศึกษาโบราณสถานเป็นเครื่องมืออธิบายเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และสะท้อนภาพอดีตในประวัติศาสตร์และอารยธรรมไทย

๓.วัดระดับการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และนำเสนอแนวทางในการเพิ่มศักยภาพของนักศึกษาในการเรียนวิชาดังกล่าว

๑.๖ ขอบเขตของงานวิจัย

๑.การใช้ผังมโนทัศน์เป็นนวัตกรรมในการศึกษากลุ่มวิชาประวัติศาสตร์ไทย โดยมีแบบทดสอบก่อนและหลังการทัศนศึกษาเป็นเครื่องมือในการประเมินสัมฤทธิผลทางการศึกษา

๒. เปรียบเทียบสัมฤทธิผลทางการศึกษาจากการทัศนศึกษาโบราณสถาน ๓ แห่งในเกาะ

รัตนโกสินทร์โดยใช้ผังมโนทัศน์เป็นนวัตกรรมทางการศึกษา และการทัศนศึกษาโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาโดยมิได้ใช้ผังมโนทัศน์

๓. กำหนดให้ใช้ผังมโนทัศน์สำหรับการทัศนศึกษา ๓ แห่งในเกาะรัตนโกสินทร์สำหรับนักศึกษาที่ลงทะเบียนวิชาความรู้เกี่ยวกับโบราณสถานในท้องถิ่น ส่วนการทัศนศึกษาโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาของนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชาโบราณคดีและวิชาถิ่นฐานไทยจะไม่ใช้ผังมโนทัศน์เป็นนวัตกรรมในการเรียนการสอนก่อนการทัศนศึกษา เนื่องจากต้องการทดสอบประสิทธิภาพของนวัตกรรมและต้องการศึกษาเปรียบเทียบศักยภาพของนักศึกษาระหว่างกลุ่มที่ใช้นวัตกรรมกับกลุ่มที่ไม่ใช้นวัตกรรม

๑.๘ เป้าหมายการวิจัยและกลุ่มเป้าหมาย

เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานข้างต้น และกลุ่มเป้าหมายของการวิจัยประกอบด้วย

๑.นักศึกษาชั้นปีที่๒ วิชาเอกวัฒนธรรมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ หลักสูตร ๔ ปีซึ่งลงทะเบียนเรียนวิชาความรู้เกี่ยวกับโบราณวัตถุสถานในภาคเรียนที่๒ ปีการศึกษา ๒๕๔๖ และลงทะเบียนเรียนวิชาโบราณคดีในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๔๗ จำนวน ๓๐ คน

๒.นักศึกษา ชั้นปีที่๑ วิชาเอกสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์หลักสูตร ๕ ปี ซึ่งลงทะเบียนเรียนวิชา ถิ่นฐานไทยในภาคเรียนที่๑ ปีการศึกษา ๒๕๔๗ จำนวน ๔๐ คน

๑.๙ วิธีการวิจัย

วิธีดำเนินการวิจัยประกอบด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้

๑.ศึกษาสภาพปัญหาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทยในระดับอุดมศึกษา จากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและตั้งสมมติฐานของการวิจัย

๒.สร้างและพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาใช้เป็นผังมโนทัศน์ โดยเลือกศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์และนำนักศึกษาทัศนศึกษาโบราณสถาน ๓ แห่งในเกาะรัตนโกสินทร์ คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และพระบรมมหาราชวัง

๓.นำนักศึกษาไปทัศนศึกษาโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จำนวน ๑๕ แห่ง โดยมิได้ใช้ผังมโนทัศน์ เพื่อเปรียบเทียบการประเมินผล

๔.สร้างแบบทดสอบก่อนใช้นวัตกรรม และหลังใช้นวัตกรรมในการทัศนศึกษาโบราณสถานทั้ง ๒ แหล่ง จำนวน ๓๐ ชุด เพื่อนำมาใช้ทดสอบนักศึกษาเป้าหมาย จำนวน ๓๐ คน

นำผลทดสอบที่ได้มาประเมินผลและสรุปผล พร้อมให้ข้อเสนอแนะสำหรับการนำนวัตกรรมไปใช้

๑.๑๐ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย (นวัตกรรม)

๑.การใช้ผังมโนทัศน์ ( Concept Map)

๒.การจัดกิจกรรมทัศนศึกษาโบราณสถานในเกาะรัตนโกสินทร์และโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

๓.การทดสอบในแบบประเมินผลก่อนและการทัศนศึกษาโบราณสถานในเกาะรัตนโกสินทร์และโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (multiple –choice แบบ ๔ ตัวเลือก )

๔.การใช้โปรแกรม SPSS เพื่อคำนวณหาค่าของผลคะแนนที่ได้จากแบบทดสอบ (t -Test )

๕.SWOT Analysis Strategy

๑.๑๑ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

๑. นักศึกษามีการพัฒนาศักยภาพในด้านความคิดเชิงมโนทัศน์

๒.พัฒนานวัตกรรมผังมโนทัศน์สำหรับการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ได้อย่างสอดคล้องกับเนื้อหาวิชาและกิจกรรมทัศนศึกษาแหล่งโบราณสถาน

๓. นักศึกษามีทัศนคติที่ดีต่อวิชาความรู้เกี่ยวกับโบราณวัตถุสถานในท้องถิ่น วิชาโบราณคดีและวิชาถิ่นฐานไทย

๑.๑๒ ทบทวนวรรณกรรม (Review Literature)

คนทั่วไปมักเข้าใจว่า กระบวนการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ จะต้องสามารถอ่านเอกสารและท่องจำ วันเดือน ปี รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตให้ได้เพียงอย่างเดียว จนละเลยการฝึกฝนทักษะทางการวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ และสังเคราะห์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นเหตุเป็นผล

โรบิน ยอร์จ คอลลิงวูด (R. G. Collingwood ) นักปรัชญาประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ เสนอว่า สิ่งที่นักประวัติศาสตร์ควรปฏิบัติ คือ การนำตัวเข้าไปสู่ยุคสมัยที่ตนศึกษา โดยเข้าให้ถึง “ความคิด” ของคนในยุคนั้น และการศึกษาประวัติศาสตร์ คือ การจำลองความคิดในอดีตขึ้นมาอีกครั้งอย่างระบบ (reconstructing of the past thought) (R. Collingwood : 1962 )

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนยังไม่พบว่านักวิชาการท่านใด ทำวิจัยเกี่ยวกับการนำนวัตกรรมผังมโนทัศน์มาใช้ในการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจำลองความคิดเกี่ยวกับอดีต เพื่อทำความเข้าใจกับมิติทางประวัติศาสตร์ ให้ฟื้นคืนมาอย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้งในจินตนภาพของผู้ศึกษา จะไม่เกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์การเรียนการสอนเลยหากผู้ศึกษาไม่มีโอกาสเดินทางไปศึกษาโบราณสถานด้วยตนเองระหว่างการเรียนวิชานั้นๆ

๑.๑๓ สภาพพฤติกรรมการเรียนการสอน

พฤติกรรมการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบัน มีปัจจัยต่างๆเกี่ยวข้องหลายประการ พฤติกรรมส่วนหนึ่งเกิดจากสังคมไทยไม่เห็นคุณค่าของการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ กล่าวคือทั้งผู้ปกครองและนักศึกษา รวมทั้งหน่วยงานองค์การต่างๆ มักจะมีทัศนคติด้านลบต่อการเรียนประวัติศาสตร์ว่า จะเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไปทำไม เพราะเรียนจบไปแล้วไม่มีงานรองรับ หรือได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าการเรียนสาขาวิชาอื่น โดยเฉพาะวิชาที่เกี่ยวกับการจัดการทางด้านการท่องเทียวและอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์เป็นองค์ประกอบของหลักสูตร

กระแสของความสนใจในการจัดการเรียนการสอนปัจจุบันจึงเบี่ยงเบนมาทางด้านวิชาการท่องเที่ยว ทั้งๆที่อันที่จริงแล้วหากมิได้รับการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างเหมาะสมแล้ว การเดินทางไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวประเภทต่างๆของนักท่องเที่ยว ก็ไม่เกิดคุณค่า ความซาบซึ้งและทัศนคติใดๆเลยแม้แต่น้อย

ปรากฏการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า สังคมกำลังขาดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับคุณค่าของวิชาประวัติศาสตร์ เนื่องจากประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คนทุกเพศวัย เริ่มตั้งแต่การทักทาย ไปไหนมา กินข้าวหรือยัง สบายดีหรือ ตลอดจนถึงการวิเคราะห์ตัวเลขในตลาดหุ้นซึ่งต้องใช้สถิติการแกว่งตัวขึ้นลงของหุ้นต่างๆในกระดานหุ้น เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องพึ่งข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นบทพิสูจน์ว่า กระแสที่หันไปหาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของวิชาประวัติศาสตร์ บ่งชี้ให้เห็นพัฒนาการทางวิชาการ อันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้เกิดทัศนคติ เกิดความซาบซึ้งและชื่นชม ต่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

การจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างบรรยากาศให้เกิดความสนใจต่อเนื้อหาของวิชาประวัติศาสตร์ จึงควรใช้นวัตกรรมใหม่มาสร้างมโนทัศน์ทางการคิดวิเคราะห์ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนที่วางไว้

๑.๑๔ คำสำคัญในงานวิจัย

ผังมโนทัศน์ หมายถึง ผังแสดงมโนทัศน์หรือความคิดรวบยอดใหญ่ไว้ตรงกลางและแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์ใหญ่และมโนทัศน์ย่อยๆเป็นลำดับขั้นด้วยเส้นเชื่อมโยง

ตัวแปรต้น หมายถึง นวัตกรรมผังมโนทัศน์ และกิจกรรมทัศนศึกษา

ตัวแปรตาม หมายถึง แบบทดสอบก่อนและหลังการทัศนศึกษา

โบราณสถาน หมายถึง อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้างหรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์และโบราณคดีและให้รวมถึงศิลปวัตถุที่ติดตั้งประจำกับอสังหาริมทรัพย์

โบราณสถานที่ถูกทิ้งร้าง หมายถึง กลุ่มโบราณสถานที่ไม่มีการใช้สอยในปัจจุบัน

โบราณสถานที่มีชีวิต หมายถึง อาคารสถาปัตยกรรมที่ยังใช้สอยในปัจจุบัน เช่น วัด พระอุโบสถ เจดีย์ วิหาร พระบรมราชวัง ศาลาหอระฆัง ฯลฯ

โบราณสถาน ๓ แห่งในเกาะรัตนโกสินทร์ หมายถึง พระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

โบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย วัดพนัญเชิง วัดใหญ่ชัยมงคล วัดพุทไธศวรรย์ พระราชวังหลวง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดมงคลบพิตร วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดหน้าพระเมรุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา วัดไชยวัฒนาราม วัดนักบุญยอแซฟ หมู่บ้านโปรตุเกส

SWOT Analysis Strategy หมายถึง ยุทธศาสตร์ในการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน ข้อจำกัด และโอกาส

POSTRATA หมายถึง ผลทดสอบก่อนการทัศนศึกษาโบราณสถานในเกาะรัตนโกสินทร์

PRERATA & POSTRATA หมายถึง การเปรียบเทียบผลทดสอบก่อนและหลังการทัศนศึกษาในเกาะรัตนโกสินทร์

PREBORAN หมายถึง ผลทดสอบก่อนการทัศนศึกษาอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาของกลุ่มนักศึกษาที่เรียนวิชาโบราณคดี

POSTBORAN หมายถึง ผลทดสอบหลังการทัศนศึกษาอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาของกลุ่มนักศึกษาที่เรียนวิชาโบราณคดี


บทที่ ๒

สัมพันธภาพของประวัติศาสตร์กับผังมโนทัศน์ : นวัตกรรมแห่งบูรณาการการเรียนรู้



๒.๑ประวัติศาสตร์คืออะไร

ประวัติศาสตร์ตรงกับภาษาอังกฤษว่า history สารานุกรมฉบับโคลัมเบีย(The Columbia Encyclopedia) อธิบายว่า ตามความหมายทั่วไปประวัติศาสตร์ หมายถึง เรื่องราวในอดีตของมนุษย์ หากจะอธิบายเพิ่มเติมให้เฉพาะเจาะจงและชัดเจนอีกก็หมายถึงบันทึกต่างๆในอดีตของมนุษย์ทั้งในรูปแบบขของเอกสาร หนังสือ สัญญา เครื่องมือเครื่องใช้และสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์ทำขึ้นในช่วงเวลานับตั้งแต่ที่มนุษย์ได้ประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมาใช้(The Columbia Encyclopedia, ๑๙๖๓, ๙๕๔)

อี. เอช. คาร์ กล่าวว่า “ ประวัติศาสตร์ คือ เรื่องราวอันต่อเนื่องของการโต้ตอบกันระหว่างนักประวัติศาสตร์กับหลักฐานข้อเท็จจริง เป็นเรื่องถกเถียงระหว่างปัจจุบันกับอดีตที่ไม่มีสิ้นสุด”

โรเบิร์ต วี.แดเนียลส์ กล่าวว่า “ ประวัติศาสตร์คือ ความทรงจำว่าด้วยประสบการณ์ของมนุษย์ ซึ่งถ้าถูกลืมหรือละเลยก็เท่ากับว่าเราได้ยุติแนวทางอันบ่งชี้ว่าเราคือมนุษย์ หากไม่มีประวัติศาสตร์เสียแล้ว เราจะไม่รู้เลยว่า เราคือใคร เป็นมาอย่างไร เหมือนคนเคราะห์ร้าย ตกอยู่ในภาวะมึนงง เสาะหาเอกลักษณ์ของเราอยู่ท่ามกลางความมืด” ฉะนั้นความหมายประวัติศาสตร์อย่างกว้างๆ คือแหล่งใหญ่ของค่านิยม ข้อผูกพัน ความตื่นเต้นทั้งหมด ทำให้ชีวิตมีค่าควรแก่การอาศัยอยู่และทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ (แดเนียล โรเบริต์ วี., ศึกษาประวัติศาสตร์อย่างไรและทำไม แปลโดย ธิดา สาระยา : ๒๕๒๐ : ๑ ,๑๖๕)

โรบิน ยอร์จ คอลลิงวูด กล่าวว่า “เราอาจอธิบายกระบวนการทางธรรมชาติได้อย่างเหมาะสมว่าเป็นความต่อเนื่องของเหตุการณ์ แต่กระบวนการทางประวัติศาสตร์มิใช่เช่นนั้น เพราะกระบวนการทางประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องราวของเหตุการณ์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการกระทำซึ่งยังมีเหตุการณ์ด้านในการกระทำนั้น และเหตุการณ์ด้านในที่กล่าวนี้ประกอบด้วยกระบวนการของความคิด กระบวนการของความคิดนี้คือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์กำลังค้นหา ดังนั้นประวัติศาสตร์ทั้งมวลจึงเป็นประวัติศาสตร์ของความคิด ( R .G.Collingwood, ๑๙๗๒ : ๒๑๕)

อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์นั้นเป็นวิชาที่มีขอบเขต ครอบคลุม กว้างขวาง อาจจำแนกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ ประวัติศาสตร์ทั่วไป ประวัติศาสตร์เฉพาะ และประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ สังคม การเมือง

๒.๒คุณค่าของประวัติศาสตร์

-ประโยชน์จากประสบการณ์ในอดีตจะมีค่าอย่างมากหากรู้จักนำเอาอดีตมาดัดแปลงให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ในแต่ละช่วงชีวิต

-ประวัติศาสตร์มีคุณค่าต่อการ “อ่าน” พัฒนาการความเป็นไปความเป็นมาของเหตุการณ์และการวิเคราะห์แนวโน้มเพื่อการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น

-เป็นการเรียนรู้อดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน และเตรียมตัวสำหรับอนาคต

๒.๓ มโนทัศน์คืออะไร

มโนทัศน์ เป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษว่า “Concept “ ซึ่งมีผู้กำหนดคำอื่นขึ้นมาใช้ในความหมายเดียวกันหลายคำ ได้แก่คำว่า “มโนภาพ” “มโนคติ” “สังกัป “ และ “ความคิดรวบยอด” หมายถึง ความคิด ความเข้าใจโดยสรุปของบุคคลที่ได้รับจากการเรียนรู้ ในลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้น อันเกิดจากประสบการณ์ที่เคยได้รับมาในสิ่งนั้น หรือในเรื่องนั้นหลายๆ แบบ

คำว่า “กิจกรรมมโนทัศน์” เป็นอีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการสอนแบบจัดกรอบมโนทัศน์ หมายถึง เครื่องมือหรือแผนภาพที่แสดงความสัมพันธ์ของมโนทัศน์ที่เกี่ยวข้องในเนื้อหาวิชาอย่างมีระบบ เป็นลำดับขั้น

เมื่อพิจารณาจากความหมายของทั้ง ๒ คำ ที่กล่าวไว้พอสรุปได้ว่า “การสอนแบบจัดกรอบมโนทัศน์” หมายถึง กิจกรรมการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนนำมโนทัศน์เนื้อหา มาจัดลำดับและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของแต่ละมโนทัศน์ ที่มีความเกี่ยงข้องเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดเป็นกรอบมโนทัศน์ขึ้น

๒.๔ ความหมายของการคิดเชิงมโนทัศน์

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ : 2546) อธิบายความหมายของการคิดเชิงมโนทัศน์ไว้ดังนี้

๑.การคิดเชิงมโนทัศน์เป็นการพัฒนาทักษะในการหา “แก่น” หรือ ลักษณะสำคัญที่บ่งบอกความเป็นมโนทัศน์ของสิ่งที่รับรู้ โดยสามารถแยกแยะแก่นออกจาก “กระพี้” หรือเปลือกนอกที่ไม่เกี่ยวข้องในมโนทัศน์ เมื่อเราดึงแก่นออกมาได้แล้ว แก่นนั้นจะทำหน้าที่เป็นกรอบในการทำความเข้าใจสิ่งใหม่ๆที่เรารับรู้ได้รวดเร็วและคมชัดมากยิ่งขึ้น

๒.การคิดเชิงมโนทัศน์ช่วยเพิ่มความรู้ใหม่ เพราะคนที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องใดย่อมจะมีมโนทัศน์หรือกรอบความคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นชัดเจน จนสามารถเชื่อมโยงเหตุผลในเครือข่ายเชิงนามธรรมให้เข้ากับมโนทัศน์อื่นๆ

มโนทัศน์ในเรื่องต่างๆมีลักษณะเหมือน “ตาข่าย” เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน มโนทัศน์ของสิ่งหนึ่งอาจเป็นมโนทัศน์หลักซึ่งมีองค์ประกอบย่อยๆอยู่ภายใต้มโนทัศน์หลักก็ได้

๒.๕ ความสำคัญของการสอนแบบจัดกรอบมโนทัศน์

มโนทัศน์ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการเรียนรู้ เพราะถ้าผู้เรียนได้เรียนรู้จนเกิดมโนทัศน์ในเรื่องใดเรื่อหนึ่งแล้วย่อมส่งผลให้สามารถทำความเข้าใจในรายละเอียดของเรื่องที่เรียนได้ดีขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้เรียนไม่มีมโนทัศน์ในเรื่องที่เรียน ผู้เรียนจะไม่สามารถทำความเข้าใจได้ และนอกจากนี้ ถ้าผู้เรียนมีมโนทัศน์ที่ผิด หรือคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง จะยากแก่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะส่งผลเสียก่อให้เกิดปัญหาในการเรียนรู้ได้ ดังที่ เค เอ็ม ฟีชเชอร์ (Fisher ๑๙๘๕ : ๕๓ – ๕๔ ) ได้กล่าวถึงผลเสียที่เกิดจากมีมโนทัศน์คลาดเคลื่อนไว้ ๓ ประการ ดังนี้

๑.มโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อนเพียงเรื่องเดียว หรือจำนวนหนึ่ง จะขยายออกไปได้ เนื่องจากคนเรามีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลจำนวนมากอยู่เสมอ และแต่ละบุคคลก็มีความคิดที่แตกต่างกัน

๒.มโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อนจะขยายตัวกว้างออกไปจากเรื่องที่ง่ายไปสู่เรื่องที่ยากขึ้น และมโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อนจำนวนไม่น้อยที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลงแก้ไขถ้ายังคงใช้วิธีสอนแบบเดิม

๓.มโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อนบางเรื่องก็เกี่ยวข้องกับความเชื่ออื่นๆ ซึ่งเกี่ยวโยงกันอย่างมีระบบ จะทำให้นักศึกษามีแนวโน้มที่นำมโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อนนั้นไปใช้ในชีวิตของเขาด้วย

มโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อน นอกจากก่อให้เกิดผลเสียดังกล่าวแล้ว เวลาจะทำการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องนั้นทำได้ยาก ดังคำกล่าวของโกวิน ดี บ๊อบ (Bob 1982 : 2) ว่า “ถ้าความคิดหรือข้อสรุปของมโนทัศน์ที่ได้แปรปรวนไปจากความเป็นจริง ผู้เรียนจะยึดติดกับความคิดยากแก่การเปลี่ยนแปลง”

จากความจำเป็นของมโนทัศน์ต่อการเรียนรู้ และผลเสียจากการมีมโนทัศน์คลาดเคลื่อนดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่ามโนทัศน์มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ ถ้ามโนทัศน์คลาดเคลื่อน การเรียนรู้ก็จะไม่ถูกต้องไปตลอด ในทางตรงกันข้ามถ้ามีมโนทัศน์ชัดเจน สิ่งที่เรียนรู้ย่อมถูกต้องชัดเจน และจะเป็นพื้นฐานให้สามารถเรียนรู้ในระดับสูงขึ้นได้ดีและแจ่มแจ้ง สามารถนำไปอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆได้เป็นอย่างดี

๒.๖ทฤษฏีการเรียนรู้ที่เป็นพื้นฐานในการสร้างกรอบมโนทัศน์

เดวิด พี ออซูเบล(David P. Ausubel, บรรจง สิทธิ แปล ๒๕๓๗ : ๒๑ ;อ้างอิงมาจาก Ausubel) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน กล่าวถึง ทฤษฏีการเรียนรู้อย่างมีความหมาย (A Theory of Meaningful Verbal Learning) ว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ ถ้าความรู้ใหม่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับความรู้เดิมที่มีอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นทฤษฏีพื้นฐานของการสร้างการอบรมมโนทัศน์ ทฤษฏีการเรียนรู้ที่มีความหมายมีแนวคิดว่า ครูควรที่จะสอนในสิ่งที่มีความสัมพันธ์กับความรู้ที่นักศึกษามีอยู่เดิม ความรู้ที่มีอยู่เดิมนั้น จะอยู่ในโครงสร้างของความรู้ (Cognitive Structure) ซึ่งเป็นข้อมูลที่สะสมอยู่ภายในสมองและมีการจัดระบบไว้เป็นอย่างดี มีการเชื่อมโยงระหว่างความรู้เก่ากับความรู้ที่ได้รับใหม่อย่างมีระดับชั้น ทำให้คนเราเกิดการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ

๒.๗หลักพื้นฐานของทฤษฏีการเรียนรู้ของออซูเบล

ทฤษฎีพื้นฐานการเรียนรู้ของออซูเบลอันเป็นแนวทางในการสร้างกรอบมโนทัศน์ มี ๓ ประการ คือ

๑.โครงสร้างของความรู้ (Congnitive Structure) เป็นโครงสร้างที่อยู่ในสมองซึ่งมีการจัดลำดับมโนทัศน์ จากมโนทัศน์ที่มีความหมายกว้างหรือมีความหมายทั่วไป ไปสู่มโนทัศน์ที่มีความหมายแคบลงหรือเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

๒.กระบวนการแยกแยะความแตกต่างเชิงก้าวหน้า (Progessive Differentation) จากหลักการที่ว่า การเรียนรู้อย่างมีความหมายจะเกิดขึ้นเมื่อมีการนำความรู้ใหม่ ไปสัมพันธ์กับความรู้ที่มีอยู่เดิม ทำให้มีการขยายความรู้ได้กว้างขึ้นจึงเกิดการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดโดยมีการแยกแยะความแตกต่างเชิงก้าวหน้า มโนทัศน์ที่มีความหมายกว้างจะอยู่ทางด้านบนของโครงสร้างความรู้ ส่วนมโนทัศน์ที่มีความหมายแคบและเฉพาะเจาะจงจะอยู่ด้านล่างลดลงมาเป็นลำดับ

๓.การประสานสัมพันธ์เชิงบูรณาการ (Integreative Reconciliation จากหลักการเรียนรู้ที่ว่าการเรียนรู้อย่างมีความหมาย จะเกิดการเชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิมที่มีอยู่ก่อน ดังนั้นถ้าผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงมโนทัศน์ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ใหม่และเชื่อมโยงระหว่างชุดความรู้ได้ดี

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สตี : พิธีบูชายัญตนเองของหญิงหม้ายในอินเดีย

การวิเคราะห์ และเปรียบเทียบจิตรกรรมฝาผนังภาพสุริยุปราคา