การวิเคราะห์ และเปรียบเทียบจิตรกรรมฝาผนังภาพสุริยุปราคา


จิตรกรรมรัชกาลที่ ๔ ทอดพระเนตรสุริยุปราคาภายในพระอุโบสถ
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
 
จิตรกรรมรัชกาลที่ ๔ ทอดพระเนตรสุรุยุปราคาที่ภายในพระอุโบสถวัดเสนาสนาราม
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


บทนำ
          สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลกโคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน เงาของดวงจันทร์จึงบังแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกทำให้ดวงอาทิตย์มืดเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด

คนไทยรู้จักปรากฏการณ์ข้างต้นตามโลกทัศน์ของคนโบราณดังปรากฏใน “ คัมภีร์ไตรยภูมิโลกย์สัณฐาน” “ คำภีร์โหร” และตำนานสุริยคราสและจันทรคราส

ในสมัยอยุธยาตอนปลายและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีภาพจิตรกรรมไทยแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับไตรภูมิหรือจักรวาลในทัศนะของชาวพุทธ ซึ่งในฉากประกอบด้วยภาพเขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์ ป่าหิมพานต์ ฯลฯ และสิ่งที่จะขาดไม่ได้คือ ภาพการโคจรของพระอาทิตย์ พระจันทร์และพระราหู ที่เป็นความเชื่อเรื่องราหูอมตะวันและราหูอมจันทร์

การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงเหตุการณ์ของพระมหากษัตริย์กำลังส่องกล้องโทรทรรศน์ทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ผนังด้านสกัดตรงข้ามพระประธานในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร และจิตรกรรมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ผนังด้านสกัดตรงข้ามพระประธานในพระอุโบสถวัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์แต่ มีการใช้ฉากเหมือนกันทั้งสองแห่งคือ เป็นฉาก ณ หมู่พระมหามณเฑียรบริเวณเกยพระราชยานของพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ภายในพระบรมมหาราชวัง แทนที่จะเป็นฉากเรื่องการทอดพระเนตรสุริยุปราคาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ตำบลหว้ากอ ตามหลักฐานพระราชพงศาวดารและประชุมประกาศสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งกล่าวถึงการคำนวณหาวัน เวลาและสถานที่ ของการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา บริเวณอ่าวแม่รำพึง ตำบลหัววาน แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันคือ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

การที่จิตรกรรมภาพสุริยุปราคาภายในพระอุโบสถของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และวัดเสนาสนาราม ใช้ฉากสถานที่ในพระบรมมหาราชวัง ทั้งๆที่มีหลักฐานภาพถ่ายสถานที่จริง

และเอกสารอย่างชัดเจน ชี้ให้เห็นว่า ช่างเขียนต้องการเสนอความคิดเชิงสัญลักษณ์บางประการที่จำเป็นต้องตรวจสอบ นอกจากนี้การเปรียบเทียบจิตรกรรมภาพสุริยุปราคาของทั้งสองวัด มีหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่า ภาพจิตรกรรมสุริยุปราคาภายในวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามนั้น ช่างเขียนได้จำลองภาพสถาปัตยกรรมภายในพระบรมมหาราชวังมาจากภาพถ่าย ส่วนจิตรกรรมภาพสุริยุปราคาที่วัดเสนาสนารามมีร่องรอยบางอย่างที่เชื่อว่า การเขียนภาพอาจอาศัยจิตรกรรมที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามเป็นต้นแบบ

๑. ที่มาและความหมายของจิตรกรรมภาพสุริยุปราคา

การรับรู้เรื่องสุริยุปราคาของพระมหากษัตริย์ไทยมีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ภาพเขียนของชาวฝรั่งเศส แสดงเหตุการณ์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงกล้องโทรทรรศน์ ทอดพระเนตรสุริยุปราคาร่วมกับคณะบาทหลวงฝรั่งเศสนิกายเยซูอิตและข้าราชบริพารฝ่ายไทย ณ พระที่นั่งเย็น เมืองละโว้(ลพบุรี) เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ ๒๒๓๑ นับเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาดาราศาสตร์ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ในสยาม แต่ยังไม่พบหลักฐานภาพจิตรกรรมไทยที่เกี่ยวกับสุริยุปราคาในที่ใด ทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากการที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังเชื่อว่า ปรากฏการณ์สุริยุปราคาและจันทรุปราคาเป็นเรื่องของเทวดาและอิทธิปาฏิหาริย์

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงสนพระทัยทางด้านดาราศาสตร์ตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวช โดยศึกษาทั้งดาราศาสตร์ไทยโบราณและดาราศาสตร์ตะวันตกสมัยใหม่อย่างลึกซึ้ง มีหลักฐานว่ารัชกาลที่๔ ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับดาวหาง ๓ ดวงที่เคยโคจรผ่านเข้ามาให้เห็นในสยาม ดวงหนึ่งโคจรเข้ามาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๕ และอีก ๒ ดวงปรากฏในรัชสมัยของพระองค์

          การค้นพบครั้งสำคัญที่สร้างความตื่นเต้นแก่วงการดาราศาสตร์ คือการที่รัชกาลที่๔ ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้ ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ที่ตำบลหว้ากอ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์อย่างแม่นยำ ผลการค้นพบนี้ถูกประกาศให้ประชาชนไทยทราบล่วงหน้าถึง ๒ ปี นับเป็นการท้าทายความเชื่อตามแบบโบราณเกี่ยวกับการเกิดสุริยุปราคา ทั้งๆที่ประเทศต่างๆในโลกตะวันตก ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดสุริยุปราคาครั้งนั้นเลย การเสด็จฯทอดพระเนตรสุริยุปราคา จึงเป็นการเดินทางไปพิสูจน์ผลการคำนวณทางดาราศาสตร์ของพระองค์

           จิตรกรรมภาพเหตุการณ์พระมหากษัตริย์กำลังส่องกล้องโทรทัศน์ ทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และที่วัดเสนาสนาราม มีการใช้ฉากหมู่พระมหามณเฑียร บริเวณเกยพระราชยานของพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ภายในพระบรมมหาราชวัง แทนที่จะเป็นฉากที่หว้ากอตามหลักฐานในพระราชพงศาวดาร ส่วนจิตรกรรมภายในพระที่นั่งทรงผนวชเป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประทับบนพระเก้าอี้ในพลับพลา ถัดไปเป็นภาพเหมือนของเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) ขุนนางผู้มีอำนาจในสมัยนั้น ตอนบนเป็นภาพเรือพระที่นั่งกำลังเคลื่อนขบวนไปที่หว้ากอ และที่สำคัญคือ ตำแหน่งของจิตรกรรมเหตุการณ์ทอดพระเนตรสุริยุปราคาในพระที่นั่งทรงผนวชนั้น ไม่โดดเด่นเท่ากับที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามและวัดเสนาสนาราม เพราะเป็นเพียงภาพประกอบพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เท่านั้น

          จิตรกรรมภาพสุริยุปราคาของวัดราชประดิษฐ์ฯและวัดเสนาสนาราม ถูกเขียนอยู่ในตำแหน่งคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ภาพเหตุการณ์สุริยุปราคาของวัดราชประดิษฐสถิตสีมารามถูกจัดวางอยู่ที่ผนังระหว่างประตูสองข้างตรงข้ามพระประธาน ทำให้เกิดภาพสองภาพต่อเนื่องกัน ส่วนจิตรกรรมที่วัดเสนาสนารามถูกจัดวางอย่างเด่นเป็นพิเศษยิ่งขึ้น เพราะอยู่กึ่งกลางของผนังสกัดด้านหน้าพระประธาน ซึ่งเคยเป็นตำแหน่งภาพจิตรกรรมฉากมารผจญ หรือภาพพระพุทธเจ้าทรงชนะมารในจิตรกรรมไทยประเพณีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

           การจัดวางภาพดังกล่าวจึงอาจสะท้อนให้เห็นว่า จิตรกรรมภาพสุริยุปราคาของวัดทั้งสองแห่ง เขียนขึ้นเพื่อฉลิมพระเกียรติในพระปรีชาสามารถของพระองค์ด้านดาราศาสตร์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ อย่างชัดเจน

๒. วิเคราะห์จิตรกรรมภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

และวัดเสนาสนาราม

๒.๑ ปัญหาในการวิเคราะห์จิตรกรรมภาพสุริยุปราคา

          หลักฐานประชุมพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ ๔ และประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ รวมทั้งภาพถ่ายร่วมสมัย บ่งชี้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่จิตรกรรมภาพสุริยุปราคาที่พระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามและวัดเสนาสนารามใช้ฉากสถานที่ภายในพระบรมมหาราชวัง แทนที่จะเป็นฉากจริงตามเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ดี จิตรกรรมฝาผนังมีธรรมชาติเป็นงานศิลปะ ซึ่งถ่ายทอดจากการสร้างสรรค์ประสบการณ์ความประทับใจและมีจุดมุ่งหมายอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องเขียนภาพให้ตรงกับข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์เสมอไปก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขบางอย่าง อาทิ ผู้กำหนดเนื้อหาของภาพ อาจเป็นผู้อุปถัมภ์งานเขียนหรือช่างเขียนเอง อาจประสงค์จะให้การเขียนภาพเป็นไปตามความพึงพอใจของตนเองก็ได้

          หากพิจารณาจากการวางแผนผังโดยรวมของภาพจิตรกรรมของวัดทั้งสองแล้วพบว่า ช่างเขียนต้องการนำเสนอเรื่องราวของพระราชพิธีสิบสองเดือนเป็นหลักมากกว่า ส่วนภาพเหตุการณ์ทอดพระเนตรสุริยุปราคาของรัชกาลที่ ๔ เป็นภาพพิเศษที่วาดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๔ นอกจากนี้ฉากที่ใช้ในเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ล้วนแล้วแต่เป็นฉากในพระบรมมหาราชวังแทบทั้งสิ้น ดังนั้นการใช้ฉากการทอดพระเนตรสุริยุปราคาในพระบรมมหาราชวัง จึงน่าจะเหมาะสมกว่าที่จะใช้ฉากพลับพลาที่ประทับบริเวณหว้ากอ เพื่อให้เกิดความกลมกลืนและความมีเอกภาพของจิตรกรรมทั้งหมดในอุโบสถ

๒.๒ วิเคราะห์ตำแหน่งการจัดวางภาพจิตรกรรมและเนื้อหาหลักของภาพเพื่อการลำดับอายุสมัยของภาพจิตรกรรม

          ตำแหน่งการจัดวางภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่วัดราชประดิษฐ์และวัดเสนาสนารามมีความแตกต่างกัน เนื่องจากลักษณะโครงสร้างพระอุโบสถของทั้งสองวัด กล่าวคือ ผนังสกัดด้านหน้าพระประธานของวัดเสนาสนารามมีพื้นที่ยาวตลอด เพราะประตูของพระอุโบสถอยู่ด้านข้างสองประตู ภาพสุริยุปราคาของวัดเสนาสนารามจึงถูกออกแบบให้อยู่กึ่งกลางของผนังสกัดด้านตรงข้ามพระประธาน ฉากดังกล่าวแสดงให้เห็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ กำลังทรงกล้องโทรทรรศน์ ณ หมู่พระมหามณเฑียรบริเวณเกยพระราชยานของพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ใกล้กับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย  โดยเฉพาะพระพักตร์นั้น มีลักษณะเป็นภาพเหมือนของรัชกาลที่ ๔ อย่างค่อนข้างชัดเจน นอกจากนี้ในฉากประกอบยังแสดงภาพพระราชพิธีสรงมุรธาภิเษก ณ บริเวณซุ้มประตูพระทวารเทเวศร์รักษา พระราชพิธีนี้เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับน้ำ การสรงน้ำมุรธาภิเษกจะกระทำหลังจากคราสคลายตัวแล้ว เรียกว่า “ โมกขบริสุทธิ์ “ คือช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์สว่างพ้นจากเงามืดโดยสิ้นเชิง ถือเป็นการ “ดับดวงสว่างเดิม”และ “เริ่มดวงสว่างใหม่” จึงมีการชำระล้างร่างกายให้สะอาดเพื่อเป็นสิริมงคล พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ บันทึกว่า

           “ …รุ่งขึ้น ณ วันอังคาร เดือน ๑๐ ขึ้น ๑ ค่ำ เวลา ๒ โมงเช้า เจ้าพนักงานเตรียมกล้องใหญ่น้อย เครื่องทรงทอดพระเนตรสุริยุปราคา เวลาเช้า ๔ โมง ๓ นาที เสด็จออกทรงกล้อง แต่ท้องฟ้าเป็นเมฆฝนคลุ้มไป ในด้านตะวันออกไม่เห็นอะไรเลยต่อเวลา ๔ โมง ๑๖ นาที เมฆจึงจางสว่างออกไปเห็นดวงอาทิตย์ไรๆ แลดูพอรู้ว่าจับแล้วจึงประโคม เสด็จมุรธาภิเษกครั้นเวลา ๕ โมง ๒๐นาที แสงแดดอ่อนลงมา ท้องฟ้าตรงดวงพระอาทิตย์สว่างไม่มีเมฆเลย ที่อื่นแลเห็นดาวใหญ่ด้านตะวันตกและดาวอื่นๆมากหลายดวง เวลา ๕ โมง กับ ๓๖ นาที ๒๐ วินาที จับสิ้นดวง เวลานั้นมืดเป็นเหมือนกลางคืนเวลาพลบค่ำ คนที่นั่งใกล้ๆกันก็แลดูไม่รู้จักหน้ากัน …”

จากหลักฐานในพระราชพงศาวดารทำให้ทราบว่า วันที่รัชกาลที่ ๔ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคานั้น อากาศปรวนแปร มีเมฆหนาและฝนตกโปรยปราย มองไม่เห็นอะไร ต่อมาในเวลา ๑๐ นาฬิกา ๑๖ นาที เมฆจางออก จึงทำให้เห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคา โดยเริ่มจากท้องฟ้าที่สว่างอยู่ เริ่มมืดสลัวลงจนมองเห็นดวงดาวได้ คราสจับเต็มดวงเมื่อเวลา ๑๐นาฬิกา ๓๖ นาที ๒๐ วินาที กินเวลานาน ๖ นาที ๔๕ วินาที ท้องฟ้ามืดจนเป็นเวลากลางคืน ผู้คนไม่สามารถเห็นหน้ากันได้แม้อยู่
ใกล้ๆกัน ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้น ตรงตามเวลาที่รัชกาลที่ ๔ ทรงคำนวณไว้อย่างแม่นยำ

          ส่วนภาพสุริยุปราคาที่ผนังของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามถูกแบ่งออกเป็นสองภาพเพราะ ผนังสกัดตรงข้ามพระประธานมีประตูทางเข้าอยู่ตรงกลาง ภาพด้านซ้ายเป็นภาพบุคคลทรงเครื่องกษัตริย์ แต่ไม่แสดงให้เห็นใบหน้าชัดเจนว่าเป็นบุคคลใด กำลังส่องกล้องโทรทรรศน์ ณ หมู่พระมหามณเฑียร บริเวณเกยพระราชยาน ของพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ใกล้กับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ส่วนฉากท้องฟ้ามืดเหมือนเป็นเวลากลางคืน และอีกภาพหนึ่งฉากท้องฟ้าสว่างกว่ามองเห็นเป็นแสงอาทิตย์ที่ค่อนข้างสลัว มีฉากซุ้มประตูพระทวารเทเวศร์รักษา ซึ่งเป็นประตูทางเข้าหมู่พระมหามณเฑียรทางด้านทิศตะวันตก โดยมีพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเป็นฉากหลัง แม้จะมีภาพบุคคลกำลังแสดงถึงพระราชพิธีสรงมุรธาภิเษก แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นผู้ใดเช่นกัน การแสดงออกของภาพค่อนข้างจะเป็นภาพสัญลักษณ์ในพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ ไม่ชี้เฉพาะเจาะจงเท่ากับฉากสุริยุปราคาที่วัดเสนาสนาราม

          จากข้อมูลข้างต้นทำให้ตีความได้ว่า ภาพจิตรกรรมที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ที่ถูกประตูแบ่งออกเป็นสองภาพนั้น เป็นภาพเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันในเหตุการณ์สุริยุปราคาดังที่เคยมีผู้เสนอไว้ กล่าวคือ หลังจากสุริยคราสจับเต็มดวงแล้ว ส่งผลให้ท้องฟ้ามืดเหมือนเป็นเวลากลางคืน มิใช่เป็นภาพจันทรุปราคาดังที่มีบางท่านเข้าใจ

           นอกจากนี้หากเปรียบเทียบภาพจิตรกรรมที่วัดเสนาสนาราม แม้จะเป็นภาพเดียวเต็มผนัง แต่ก็สื่อความหมายที่ชัดเจน เพราะได้จำลองพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ ๔ และปรากฏภาพพระราชพิธีสรงมุรธาภิเษก ขณะที่ภาพจิตรกรรมสุริยุปราคาที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม แสดงให้เห็นเพียงภาพบุคคลในเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ กำลังทรงกล้องทอดพระเนตรสุริยุปราคาเท่านั้น

           ความชัดเจนของภาพสุริยุปราคาในเรื่องของการจัดวางตำแหน่งของภาพและเนื้อหาหลักที่วัดเสนาสนาราม บ่งชี้ถึงอายุสมัยของภาพที่คลี่คลายมาจากจิตรกรรมต้นแบบในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และเป็นหลักฐานที่สืบย้อนกลับมาได้ว่า จิตรกรรมภาพสุริยุปราคาที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ซึ่งถูกแบ่งโดยช่องประตูเป็นสองภาพนั้น เป็นภาพต่อเนื่องของปรากฏการณ์สุริยุปราคา

๒.๓ วิเคราะห์องค์ประกอบย่อยของภาพจิตรกรรมเหตุการณ์สุริยุปราคาเพื่อกำหนดอายุจิตรกรรม

-การแต่งกายและการแสดงท่าทางของบุคคล

           เครื่องแต่งกายของบุคคลในภาพจิตรกรรม ในฉากปรากฏการณ์สุริยุปราคาของทั้งวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามและวัดเสนาสนารามมีความแตกต่างกันคือ การแต่งกายที่ปรากฏในจิตรกรรมวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม มีลักษณะเป็นแบบโบราณราชประเพณีมากกว่าบุคคลในจิตรกรรมที่วัดเสนาสนาราม ซึ่งแต่งกายด้วยเครื่องแบบที่มีอิทธิพลของตะวันตกเข้ามาผสมผสาน อาทิ ภาพการสวมเครื่องแบบของทหารราชองครักษ์ต่อเบื้องพระพักตร์ของรัชกาลที่ ๔ เป็นจารีตประเพณีที่เพิ่งมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ดังนั้น จิตรกรรมภาพเหตุการณ์สุริยุปราคาของวัดเสนาสนารามน่าจะวาดขึ้นทีหลัง และได้ต้นแบบและเค้าโครงจาก วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

           ภาพเขียนดังกล่าวใช้ฉากสถาปัตยกรรมในพระบรมมหาราชวังแทนที่จะเป็นฉากที่หว้ากอ ตามพระราชพงศาวดารเหมือนกันทั้งสองวัด เป็นเครื่องชี้ว่ามีการคัดลอกแบบอย่างกัน ตลอดจนหลักฐานภาพพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ในภาพเขียนที่วัดราชประดิษฐ์ฯยังปรากฏซุ้มตะเกียง อยู่ด้านซ้ายเป็นสิ่งที่รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าให้สร้างขึ้น แต่ปัจจุบันถูกรื้อไปแล้ว (ไม่พบหลักฐานว่ารื้อในสมัยใด) ในขณะที่ภาพจิตรกรรมที่วัดเสนาสนารามนั้น ไม่ปรากฏซุ้มตะเกียงดังกล่าว เป็นสิ่งบ่งชี้อีกประการหนึ่งว่า ภาพจิตรกรรมที่วัดเสนาสนารามเป็นงานที่วาดขึ้นหลังจิตรกรรมวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

๓. การกำหนดอายุจิตรกรรมภาพสุริยุปราคาของทั้งสองวัดจากเอกสารประวัติศาสตร์

           วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า รัชกาลที่ ๔ สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๗ ใช้เวลา ๙ เดือนจึงแล้วเสร็จ ส่วนวัดเสนาสนารามนั้น รัชกาลที่ ๔โปรดฯให้บูรณะใหม่ทั้งอารามในปี พ.ศ. ๒๔๐๖ แต่ไม่มีหลักฐานเอกสารกล่าวถึงว่ามีการเขียนภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถเมื่อใด ทั้งสองวัดเป็นวัดธรรมยุติกนิกายเช่นเดียวกัน และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีเรื่องราวเหมือนกัน

           การกำหนดอายุภาพจิตรกรรมที่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามมีผู้ศึกษาไว้หลายท่าน สารนิพนธ์ของสุทธิดา วัลลภาพันธ์เรื่อง” จิตรกรรมฝาผนังวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร” ชี้ว่า หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จฯทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอแล้ว ก็ประชวรจากเชื้อมาลาเรียและสวรรคต การเขียนจิตรกรรมที่วัดราชประดิษฐ์จึงน่าจะเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของบุคคลยุคหลัง คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและเป็นอนุสรณ์แก่พระราชบิดาของพระองค์ อีกทั้งการลำดับเรื่องของพระราชพิธีสิบสองเดือนที่ผนังพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์ยังเรียงลำดับเรื่องสอดคล้องกับงานพระราชนิพนธ์ของพระองค์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนอีกด้วย

           บทความเรื่อง “ สุริยุปราคาในวังหลวง “ ของสุรชัย จงจิตรงาม เสนอว่า การเกิดสุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่ขึ้นก่อนสวรรคตเพียงเดือนเศษ ด้วยระยะเวลาที่กระชั้นชิดจึงไม่น่าจะมีการดำเนินการริเริ่มจิตรกรรมดังกล่าวได้ทันในสมัยรัชกาลที่ ๔ ดังนั้นจิตรกรรมภาพสุริยุปราคาที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามจึงควรเขียนสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีหลักฐานว่าจิตรกรรมภาพสุริยุปราคาที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามเป็นงานที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว ภาพจิตรกรรมที่วัดเสนาสนารามย่อมสร้างขึ้นในระยะเวลาต่อมาอย่างไม่ต้องสงสัยจากหลักฐานการคลี่คลายของเค้าโครงภาพและการพัฒนาจากเนื้อหาของภาพต้นแบบ

บทสรุป

           ภาพจิตรกรรมเหตุการณ์ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร และวัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถและภูมิปัญญาในการจัดวางตำแหน่งของภาพจิตรกรรมที่มีพื้นที่จำกัดให้เด่นเป็นพิเศษ แตกต่างกันไปตามลักษณะของพื้นที่ภายในพระอุโบสถ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงแนวความคิดของชนชั้นผู้นำไทย จากความเชื่อปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติเรื่องราหูอมจันทร์ และราหูอมตะวัน มาสู่ความมีเหตุผลตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์

          การศึกษาเปรียบเทียบจิตรกรรมภาพสุริยุปราคาที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามกับวัดเสนาสนาราม ทำให้สามารถเข้าใจการแสดงออกของช่างเขียน และไขปริศนาภาพจิตรกรรมที่แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ของภาพพระมหากษัตริย์ทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ซึ่งเป็นต้นแบบของภาพจิตรกรรมที่วัดเสนาสนาราม

          กรณีภาพประกอบฉากการทอดพระเนตรสุริยุปราคา ในพระอุโบสถวัดเสนาสนาราม มีจิตรกรรมภาพพระพักตร์ของรัชกาลที่ ๔ ทรงกล้องโทรทรรศน์ทอดพระเนตรสุริยุปราคา และมีภาพพระราชพิธีสรงมุรธาภิเษก อันเป็นพระราชพิธีที่ช่วยอธิบายว่าภาพจิตรกรรมของทั้งสองวัด เป็นภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคา

          อันทำให้คลี่คลายข้อสงสัยเกี่ยวกับการที่มีผู้ตีความว่า จิตรกรรมที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ภาพหนึ่งเป็นภาพจันทรุปราคา(อาทิ ในสารานุกรมภาคกลาง) และอีกภาพหนึ่งเป็นภาพสุริยุปราคา หลักฐานชี้ว่าภาพทั้งสองเป็นภาพสุริยุปราคาต่อเนื่องกัน โดยเริ่มจากการจับคราสเต็มดวงที่ทำให้ท้องฟ้ามืดภาพหนึ่ง และอีกภาพหนึ่งเป็นการคลายตัวของปรากฏการณ์สุริยุปราคา ภาพจึงสว่างขึ้น

         นอกจากนี้จิตรกรรมสุริยุปราคาที่วัดราชประดิษฐ์สถิตสีมาราม ยังมีภาพกลุ่มบุคคลกำลังประกอบกิจพิธีตามความเชื่อโบราณในภาพอีกผนังด้านหนึ่ง ซึ่งเดิมยังไม่มีสามารถชี้ลงไปว่า เป็นพระราชพิธีสรงมุรธาภิเษกมาก่อน ผู้เขียนเป็นนักวิชาการคนแรกที่นำภาพดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับจิตรกรรมที่วัดเสนาสนาราม

          ฉะนั้น การพิจารณาเปรียบเทียบภาพจิตรกรรมเหตุการณ์ทอดพระเนตรสุริยุปราคาของทั้งสองวัด จึงเป็นการค้นพบข้อมูลใหม่ที่ทำให้ทราบถึงที่มา ความหมายและการกำหนดของจิตรกรรมดังกล่าวได้อย่างชัดเจน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สตี : พิธีบูชายัญตนเองของหญิงหม้ายในอินเดีย

งานวิจัยในชั้นเรียนเรื่องการใช้ผังมโนทัศน์