การสืบสานโบราณราชประเพณี

ทรงสืบสานโบราณราชประเพณี

โดย  อาจารย์ บุหลง  ศรีกนก
การสมโภชพระนคร

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในพ.ศ.๒๓๒๕ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมโภชพระนครในพ.ศ.๒๓๒๘ ซึ่งมีการสมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นแบบแผนธรรมเนียมสืบมา

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ กรุงเทพมหานครสถาปนาครบ ๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้จัดการสมโภชพระนครพร้อมกับบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรี

รัตนศาสดารามทั่วทั้งพระอาราม

เมื่อถึงรัชกาลที่ ๗ เป็นเวลาที่ครบรอบ ๑๕๐ ปีการสถาปนาพระนคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชพระนครอีกคราวหนึ่ง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสิ่งพระบรมราชานุสรณ์เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างกรุงเทพมหานคร และประดิษฐานพระบรมวงศ์จักรี คือสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมด้วยพระบรมรูปปั้นประดิษฐานใกล้กับสะพาน พระราชทานนามว่า ปฐมบรมราชานุสรณ์ การนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวังตามราชประเพณี

ภาพการพระราชพิธีเปิดพระปฐมบรมราชานุสสรณ์


วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๕

พร้อมส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสดังนี้

          ... ข้าพเจ้ามีความยินดีเต็มตื้นที่ได้ประสบโอกาสเป็นมหามงคล กระทำพิธีเปิดปฐมบรมราชานุสสรณ์สนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยยกาธิราชพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ผู้ทรงพยายามกอบกู้ความเป็นไทยไว้แก่ชาติและทรงประดิษฐานกรุงเทพมหานครอมร

รัตนโกสินทร์เป็นราชธานี เป็นเหตุให้ประเทศสยามมีความเจริญรุ่งเรืองโดยลำดับมา ...

ขณะนี้ได้อุดมฤกษ์ ข้าพเจ้าจะดำเนินการเปิดปฐมบรมราชานุสสรณ์มอบให้เป็นอนุสสรณียวัตถุแก่ชาวสยาม...

           ในพ.ศ.๒๕๒๕ กรุงรัตนโกสินทร์สถาปนาครบ ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ตามที่รัฐบาลกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต คือ โปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เป็นแม่กองอำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง การทั้งปวงแล้วเสร็จทันการสมโภชในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๒๕

          หลังจากเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ พลับพลาท้องสนามหลวงแล้วได้เสด็จไปในการบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายรายงาน

... ในรัชกาลแห่งใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทวัดพระศรีรัตนศาสดารามได้ทรุดโทรมลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บูรณะปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่ เริ่มตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๙ เป็นต้นมา ครั้นถึงปลายปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ ใกล้เวลาที่จะมีการสมโภชพระนคร จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นประธานกรรมการอำนวยการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวังฉลองพระเดชพระคุณคิดดำเนินการให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ทันการกำหนดสมโภชพระนครให้จงได้ ...


การสร้างพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาล

ตามโบราณราชประเพณีของไทย เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ย่อมสถาปนาพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาลเพื่ออัญเชิญประดิษฐานในการพระราชพิธีต่างๆ

พระชัยวัฒน์มีพุทธลักษณะพิเศษ คือ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชรปางมารวิชัยแต่พระหัตถ์ซ้ายถือตาลิปัตรและมีฉัตรกั้นถวาย แต่มีลักษณะศิลปะตามพระราชนิยมในแต่ละรัชกาล

พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๗

“มีพระบรมราชโองการเหนือเกล้าสั่งว่า ตามราชประเพณีสืบมา เมื่อขึ้นรัชกาลใหม่แล้วย่อมทรงสถาปนาหล่อพระพุทธปฏิมาพระชัยวัฒน์ขึ้นไว้ประจำรัชกาลนั้น ครั้งนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้โหรคำนวณพระฤกษ์ศุภมงคลขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพนักงานจัดตกแต่งการ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ...”

พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๗ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงทำถวาย มีหน้าตัก ๑๗ เซนติเมตรเท่ากำลังพระพุทธตามวันพระบรมราชสมภพ องค์เป็นเงินประทับนั่งเหนือปัทมอาสน์มีจารึกและรูปศรสามเล่มมีฐานหมายถึงศักดิเดชน์ ซึ่งเป็นพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๙

          ในวโรกาสบรรจบครบ ๓ รอบแห่งพระบรมราชสมภพในพ.ศ.๒๕๐๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามที่โหรหลวงคำนวณพระฤกษ์ศุภมงคลถวายที่กำหนด ๓ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๙ – ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๖

จารึกที่ฐานพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลปัจจุบันสมเด็จพระญาณสังวรผูกถวาย

มานสํ วีริย ขนฺติ ภูมิ เว อิทฺธิยา พลํ

อิทฺธิงฺคโต ส รญเชติ ปณฺฑิโต ชยวฒฺฑโน

ความตั้งใจมุ่งมั่น ความเพียร ความมีขันตี เป็นพลังที่เป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จโดยแท้

ผู้บรรลุถึงความสำเร็จนั้น เป็นบัณฑิตได้รับความชนะมากย่อมให้เกิดความสุขยินดี

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

           พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีที่สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าโปรดเกล้าฯให้จัดเพื่อความเป็นสิริมงคลและความสุขสมบูรณ์ของพืชพันธ์ธัญญาหารในพระราชอาณาจักร รวมทั้งเพื่อบำรุงขวัญและกำลังใจของอาณาประชาราษฎรที่ประกอบกสิกรรมเป็นราชประเพณีมาแต่โบราณ

          ในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชพิธีพืชมงคล ณ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต และจัดการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ทุ่งพญาไท

... เวลา ๑๐.๐๐ ก.ท. ทรงรถยนตร์พระที่นั่งแต่พระที่นั่งอัมพรพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี ประทับพลับพลาทุ่งนาพญาไท เวลาใกล้พระฤกษเจ้าพระยาพลเทพแต่งกายอย่างแรกนาขวัญ สวมครุยลอมพอกขึ้นรถยนตร์หลวงจากกระทรวงเกษตร ...

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังรับบัญชาจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีการเจริญพระพุทธมนต์ที่ศาลาสหทัยสมาคม และแรกนาที่โรงพิธีทุ่งพญาไท การจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้ยกเลิก คงมีแต่พระราชพิธีพืชมงคลเพียงพิธีเดียว

ในสมัยปัจจุบัน เมื่อพ.ศ.๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการจัดงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อรักษาบุรพประเพณีอันเป็นมิ่งขวัญแก่ราษฎรประกอบด้วย

พระราชพิธีพืชมงคล ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์แห่งพืชผลของราชอาณาจักร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระราชพิธีจรดพระนังคัล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปประทับยังพลับพลาท้องสนามหลวงโปรดเกล้าฯให้อธิบดีกรมการข้าว (ภายหลังเป็นปลัดกระทรวงเกษตร) และเทพี มีราชบัณฑิตและพราหมณ์ทำการแรกนา ระหว่างพิธีโปรดให้มีปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ที่มีความหมายเข้ากับพิธี

... พิธีแรกนาขวัญที่ท่านทั้งหลายได้เห็น บางคนบอกว่า ไม่เห็นเป็นประโยชน์เลยมาไถนา แต่งเป็นเทวดา มาไถนากลางกรุงที่สนามหลวงแล้วก็มาหว่านข้าวไม่เห็นเป็นประโยชน์ แต่ว่าวันนี้ขอให้ท่านทั้งหลายไปคิดดีๆว่าคนอยู่ในกรุงเขาไม่ค่อยได้เห็นการทำนาเขาไม่เข้าใจว่ามั่นเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนก็ต้องมีการแสดงข้าวให้ดูให้เห็น ...

(พระราชดำรัสแก่ผู้ทำสหกรณ์วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๑) ตั้ง พ.ศ.๒๕๐๓ เป็นต้นมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” ซึ่งปลูกในแปลงนาสาธิตสวนจิตรลดาสำหรับร่วมในการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคับแรกนาขวัญ

เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีแล้ว โปรดเกล้าฯให้บรรจุในซองพลาสติกเล็กๆ แจกจ่ายแก่เกษตรกรเพื่อเป็นสิริมงคล และบำรุงขวัญกำลังใจแก่ชาวนา นอกจากนี้ยังพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เกษตรกรผู้ชนะการประกวดผลผลิต เข้าเฝ้าฯรับพระราชทานรางวัลและประกาศนียบัตรจากพระหัตถ์ด้วย

พระราชพิธีสมโภชลูกหลวง

ราชประเพณีโบราณ เมื่อปีพระประสูติการพระราชโอรสพระราชธิดาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการพระราชพิธีสมโภช ๓ วัน เป็นการส่วนพระองค์ และพระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่เมื่อมีพระชันษาครบ ๑ เดือน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีพระชันษา ๑๕ วัน เป็นการภายใน เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๘ และพระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ ในวันที่ ๒๙ – ๓๐ ธันวาคม ๒๔๖๘

... วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๖๘

เวลา ๑๔.๓๗ น. กับ ๔๓ วินาที เป็นปฐมฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ แต่พระที่นั่งบรมพิมาน ประทับพระที่นั่งเทพสถานพิลาส ทรงหลั่งน้ำพระพุทธมนต์จากพระเต้าลงในพระขันสาครที่สำหรับสรง พระราชครูวามเทพมุนี พราหมณ์พิธีเชิญเจ้าฟ้าพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวลงสรงในพระขันสาครเสร็จแล้วเชิญขึ้น ...

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามเจ้าฟ้าพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๖ ว่า สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณนวดี

(พระฉายาลักษ์ทรงพระเยาว์และพระราชหัตถเลขาธพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดผู้ที่จะถวายเจิมในพระราชพิธีสมโภช )

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระประสูติการสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชโอรส พระราชธิดา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชพิธีสมโภช ๓ วัน และพระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ๓ พระองค์ คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์สยามมงกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ส่วนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพัณณวดี ประสูติที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกอบการพระราชพิธีเวียนเทียนสมโภช เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทย

นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชพิธีสมโภชพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร และในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารีตามราชประเพณีด้วย

(ภาพพระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ในรัชกาลปัจจุบัน)



พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ

ช้างสำคัญ หรือเรียกอย่างสามัญว่า “ช้างเผือก” เป็นพระราชพาหนะคู่พระบารมีพระมหากษัตราธิราช และเป็นสิริมงคลสำหรับบ้านเมือง เมื่อได้ช้างเผือกในรัชกาลจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางตามโบราณราชประเพณี

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีช้างเผือกมาสู่พระบารมี 1 ช้าง พบที่นครเชียงใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสมโภชที่นครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดก่อน แล้วจึงเชิญผ่านมาตามหัวเมืองรายทาง ได้มีการสมโภชตามระยะทางตามลำดับ เช่นที่ นครลำปาง พิษณุโลก มณฑลอยุธยา จนถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวาง เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470

วันที่ 15 พฤศจิกายน เป็นวันที่ช้างสำคัญจะมาถึงกรุงเทพฯ ได้ซ่อมแซมตกแต่งโรงช้างถาวรเดิมที่พระราชวังดุสิต เป็นโรงสมโภชตามแบบอย่าง เช่น สมโภชโรงนอก...

วันที่ 16 พฤศจิกายน...เสด็จประทับเกยช้างเบ็ญพาษ เจ้าพนักงานถวายพระเต้าศิลา พระเต้าเทวบิฐ หม้อน้ำทองเงิน และพระมหาสังข์ ทรงหลั่งน้ำพระราชทานช้างสำคัญเหนือกระพองศีรษะและหลังช้างแล้ว เสด็จลงประทับข้างระเนียด พระยานิวัทธอิศรวงศ์ กรมพระอาลักษณ์ เชิญพานทองรองท่อนอ้อยแดง 3 ท่อน จารึกนามช้างสำคัญว่า

“พระเศวตคชเดชนดิลก”

ในสมัยรัชกาลที่ 9 มีช้างเผือกมาสู่พระบารมีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางแล้ว 12 ช้าง

ช้างเผือกลำดับแรก คล้องได้ที่จังหวัดกระบี่ เมื่อพ.ศ. 2499 องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย น้อมเกล้าฯถวายเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 มีพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 ได้รับพระราชทานนามว่า

“ พระเศวตอดุลยเดชพาหน”

หลังจากนั้นได้มีช้างเผือกมาสู่พระบารมีโดยลำดับ โปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางตามราชประเพณี และยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ ฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างในการสมโภชด้วย

“... อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ฉันต้องเกี่ยวข้องกับช้าง คือ จังหวัดยะลา น้อมเกล้าฯถวายตามประเพณีโบราณ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขึ้นระวางเป็นพระเศวตสุรคชาธาร ทรงเลี้ยงในเขตพระราชฐานเป็นเชือกแรก (พระเศวตอดุลยเดชนพาหน พระเศวตฯ เชือกแรกในรัชกาล โปรดเกล้าฯให้สวนสัตว์ดุสิตเลี้ยงไว้ เอาเข้ามาเลี้ยงในเขตพระตำหนักจิตรลดาภายหลัง การเดินทางจากเขาดินมาสวนจิตรใช้เวลาหลายชั่วโมง ได้ความว่าพยายามถอนต้นไม้หลายต้น) เมื่อเวลาแปรพระราชฐานไปหัวหิน ก็โปรดให้คุณพระและสุนัขบริวารทั้งฝูงโดยเสด็จด้วย เหตุนี้ฉันจึงคุ้นเคยกับคุณพระเป็นพิเศษ...

เรื่องช้าง บทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนสุดาสยามบรมราชกุมารี

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สตี : พิธีบูชายัญตนเองของหญิงหม้ายในอินเดีย

งานวิจัยในชั้นเรียนเรื่องการใช้ผังมโนทัศน์

การวิเคราะห์ และเปรียบเทียบจิตรกรรมฝาผนังภาพสุริยุปราคา