พัฒนายั่งยืนเพื่อผืนแผ่นดินไทย

                                                                                 โดย อาจารย์วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์
          นับแต่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ สืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติและปวงชนชาวไทย ท่ามกลางความผันผวนทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ด้วยพระราชวิจารณญาณถึงการณ์ไกล ทรงพระบรมราชวินิจฉัยที่เด็ดเดี่ยว ทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 จึง เป็นจุดเริ่มต้นที่พระโอรสองค์โตในสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญอย่างสมบูรณ์พระองค์แรก


            เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 จากพระปฐมบรมราชโองการ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ในวันบรมราชาภิเษก 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 จนถึงทุกวันนี้ เป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนชาวไทยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจบังเกิดผลดีต่อประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทยอย่างล้นพ้น ทรงอุทิศพระวรกายในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทรงสนับสนุนแนวคิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต และทรงมุ่งมั่นต่อการพัฒนา และช่วยเหลือพสกนิกรในชนบทผ่านโครงการในพระราชดำริมากมาย โดยเน้นให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แม้ในถิ่นทุรกันดาร ก่อเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นอเนกประการ

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น "กษัตริย์นักพัฒนา" อย่างแท้จริง ทรงสนพระราชหฤทัยในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การฟื้นฟูด้านกายภาพ “ป่า ดิน น้ำ” และการพัฒนา “คน” ทรงพระปรีชาสามารถยิ่งในการใช้หลักวิชาเพื่อการพัฒนา นับตั้งแต่การวางยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ ชุมชน ทั้งชุมชนเมืองและชุมชนชนบท ทรงรวบรวม ประมวล และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้ทราบถึงพลวัตรของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นสภาพทางเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม การใช้ทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อม ทุกแง่มุมอย่างครบถ้วน

            นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีพระอัจฉริยภาพเป็นเลิศในด้านการบริหารจัดการโครงการพัฒนา ทรงสามารถผสมผสานความรู้ที่หลากหลายมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินโครงการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน การจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ เป็นตัวอย่างของโครงการพัฒนาสังคมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ชนบท ที่นำหลักวิชาการพัฒนาสังคมมาประยุกต์ใช้อย่างได้ผลและครบถ้วน แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในเรื่องนี้อย่างชัดเจน

           ในการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นความสำคัญให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม และ เห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ทรงตระหนักถึงการพัฒนาคน ก่อนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาทั้งปวง มีพระราชดำริอันทรงคุณค่ายิ่ง ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

          "โครงการต่าง ๆ นั้น ต้องสามารถแก้ไข ปัญหาเฉพาะหน้า ที่ราษฎรกำลังประสบอยู่อย่างรีบด่วนและมีผลในระยะยาว โดยที่การพัฒนานั้นต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอน ความจำเป็น และประหยัด ผู้ที่ได้รับประโยชน์ คือ ประชาชนต้องสามารถ พึ่งตนเองได้ ในที่สุด"



           โดยมีแนวทางสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้แก่ประชาชนไทย ได้แก่

1. การรู้จักประมาณตนในการครองชีพ เดินทางสายกลาง ซึ่งสะท้อนอยู่ในแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

2. ประชาชนต้องมีความอุตสาหะอดทนในการเผชิญกับความทุกข์ยากและสิ่งท้าทายต่อความความมั่นคงของมนุษย์ โดยรู้จักพึ่งพาตนเองในอันดับแรก

3. ประชาชนควรมีอิสรภาพในการระบุปัญหาและเลือกวิธีแก้ไข อีกทั้ง ควรเสียสละเพื่อให้ส่วนรวมอยู่รอดได้

4. ประชาชนควรยึดมั่นในความเป็นคนไทย และเป็นชาติที่เต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมและร่ำรวยด้วยภูมิปัญญาซึ่งควรจะรู้จักนำความรู้เหล่านี้ไปดำเนินชีวิตให้เกิดประโยชน์

           แนวทางพัฒนาคนนี้สอดคล้องกันกับที่สหประชาชาติให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคนเป็นลำดับแรก และสนับสนุนการพัฒนาคน โดยเน้น คน เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา โดยมุ่งพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สิทธิมนุษยชนและความมั่นคงในชีวิต ความเท่าเทียมกันและการมีส่วนร่วมทางการเมือง สหประชาชาติจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุด ด้านการพัฒนามนุษย์ (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) เป็นรางวัลแรกของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติจัดทำขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวาระแห่งการเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ดังความตอนหนึ่งในราชสดุดีของเลขาธิการสหประชาชาติ ความว่า

           “ ไม่มีสิ่งใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการพัฒนาคน ภายใต้แนวทางการพัฒนาคนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ทรงบรมราชาภิเษกเถลิงถวัลยราชสมบัติในปี 2489 ทรงอุทิศพระวรกาย และทรงงานเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของปวงชนชาวไทยโดยไม่ได้เลือกเชื้อชาติ วรรณะ และศาสนา จนพระองค์ทรงได้รับการขนานนามว่าทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานด้านการพัฒนาชนบทโดยมุ่งเน้นการเกษตรขนาดเล็กด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม พร้อมทั้งให้อนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน รวมถึงการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำท่วมและภัยแล้ง”


          ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของพสกนิกร พร้อมกับพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะทรงบำเพ็ญพระ ราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทั้งในชุมชนชนบทและชุมชนเมือง จึงได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงตลอดมาจากโครงการพัฒนาสังคมอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 3,000 โครงการ อาทิเช่น โครง การพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทาน โครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาการเกษตร โครงการพัฒนาสงเคราะห์และ ส่งเสริมอาชีพ โครงการพัฒนาสวัสดิการสังคม โครงการพัฒนาการคมนาคมและการสื่อสาร โครงการพัฒนาการสาธารณสุข โครงการพัฒนาการศึกษาและการวิจัย และโครงการต่าง ๆ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นต้น

           พระราชกรณียกิจทั้งมวลที่ได้ทรงบำเพ็ญด้วยพระราชวิริยะอุตสาหะยังผลให้เกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาราษฎร์ และแนวทางที่ถูกต้องในการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนผืนแผ่นดินไทย สืบสนองพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ซึ่งรวมตลอดถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะทรงป้องปกปวงประชาตลอดมา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สตี : พิธีบูชายัญตนเองของหญิงหม้ายในอินเดีย

งานวิจัยในชั้นเรียนเรื่องการใช้ผังมโนทัศน์

การวิเคราะห์ และเปรียบเทียบจิตรกรรมฝาผนังภาพสุริยุปราคา