หัวหิน: ผลกระทบจากความขัดแย้งเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์และการต่อสู้ของชุมชนผู้ค้ารายย่อยแห่งชายหาดหัวหิน

                                                    โดย  ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร



บทคัดย่อ

หัวหินเป็นสถานที่พักตากอากาศของชนชั้นสูงตั้งแต่ก่อนสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในทางประวัติศาสตร์การถวายฎีกาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงเวลานี้ที่หัวหิน อาจสะท้อนให้เห็นชนวนของความขัดแย้งของคนต่างชนชั้นมาแล้ว เมื่อหัวหินพัฒนาการสู่การเป็นเมืองตากอากาศชายทะเลระดับโลก ประชากรของหัวหินก็มีทั้งกลุ่มคนท้องถิ่นที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเมื่อ 200ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนที่เข้าไปทำมาหากินที่หัวหินแล้วสมรสกับชาวหัวหิน และกลุ่มชาวกรุงเทพฯทั้งที่เป็นทายาทของชนชั้นสูงที่เคยมีบ้านพักตากอากาศที่หัวหิน และชาวกรุงเทพฯซึ่งมีบ้านหลังที่สอง ต่อมาหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 ความขัดแย้งทางการเมืองระดับประเทศยังส่งผลกระทบให้ชาวหัวหินแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิยมกลุ่มปฏิวัติกับฝ่ายนิยมเจ้า และท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมในสมัยปัจจุบัน อาจพบว่าเมืองหัวหินยังคงมีเรื่องราวของความขัดแย้งที่เกิดจากการขยายตัวของธุรกิจการท่องเที่ยว จนเกิดกรณีการยื่นถวายฎีการ้องหาความยุติธรรมของชุมชนผู้ค้ารายย่อยแห่งชายหาดหัวหิน

          หัวหินก่อตัวมาจากหมู่บ้านประมงขนาดเล็กบนชายฝั่งทะเลอ่าวไทยที่มีหาดทรายละเอียดสีขาวสะอาดตายาวต่อเนื่องกันไปประมาณประมาณ 20 กิโลเมตร และพัฒนาขึ้นเป็นสถานที่พักตากอากาศสำหรับพระราชวงศ์และชนชั้นสูงรวมถึงผู้มีอันจะกิน
          การตากอากาศชายทะเลเป็นรสนิยมของชนชั้นสูงที่แพร่เข้ามาพร้อมกับชาวตะวันตก ผ่านความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่และการคมนาคมทางรถไฟ การเริ่มต้นไปตากอากาศชายทะเลในสยามเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่5 จากการเรียกร้องของชาวอังกฤษในกรุงเทพฯที่ต้องการสถานที่พักผ่อนชายทะเล เพื่ออากาศบริสุทธิ์และการรักษาสุขภาพ เช่นเดียวกับการขอให้ทางการตัดถนนเพื่อขี่ม้าออกกำลังกายและการขอเช่าที่ดินแถบทุ่งพญาไทเพื่อการสร้างสนามม้า การขยายตัวออกไปด้วยเส้นทางคมนาคมทางรถไฟสายใต้ที่สร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดสถานพักตากอากาศที่ชื่อว่า “หัวหิน” ทางรถไฟสายใต้เปิดเดินทางจากสถานีบ้านชะอำ-หัวหิน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2454 ก่อนหน้านั้นได้เปิดเดินรถไฟจากสถานีธนบุรี-เพชรบุรี เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2446 และจากสถานีเพชรบุรี-บ้านชะอำ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2454 (สงวน อั้นคง 2514.: 401)
          การขยายเส้นทางรถไฟถึงหัวหินทำให้ชนชั้นสูงไม่ต้องนั่งเรือออกอ่าวไทยไปเกาะสีชังให้ลำบากเช่นสมัยก่อน การโดยสารรถไฟมาหัวหินมีความสะดวกมากกว่า สามารถขนข้าทาสบริวารเดินทางมาด้วยกันทั้งขบวน ลักษณะภูมิประเทศอันงดงามของชายหาดบริเวณนี้เป็นเหตุจูงใจให้พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง คหบดีจากกรุงเทพฯ เริ่มมาสร้างบ้านพักชายทะเล พระราชวังของพระมหากษัตริย์ เช่น พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และวังไกลกังวล ส่วนบรรดาเจ้านายและข้าราชการชั้นสูงก็นิยมสร้างบ้านพักในบริเวณนี้เช่นกัน
ความเหมาะสมของการเป็น “สถานที่ตากอากาศ” ของหัวหินปรากฏอยู่ในพระวินิจฉัยของพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงและเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมในหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ว่า
          “อากาศในตำบลนี้แห้งมากและเย็นสบายผิดกว่าที่อื่น ไม่มีที่ใดในพระราชอาณาเขตร์ที่มีอากาศแห้งและความร้อนหนาวของอากาศจะเป็นปรกติ ไม่ผันแปรเท่าที่ตำบลนี้ เป็นที่สำหรับคนป่วยไปพักรักษาตัวแลคนธรรมดาไปพักตากอากาศ...”
( กรรณิการ์ ตันประเสริฐ : 2546: 3-4)
         นับตั้งแต่นั้นมาหัวหินก็เติบโตเป็นเมืองตากอากาศชายทะเลที่มีชื่อเสียงระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นเมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ปัจจุบันก็ยังมีการจัดเทศกาลเพลงแจ๊ส (Jazz Festival) และมีการถือครองที่ดินของคนต่างชาติที่มีคู่สมรสเป็นหญิงไทย และมีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพำนักแบบ (Long Stay : การท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว) ในอัตราที่สูง ซึ่งมองจากภายนอกหัวหินเป็นเมืองแห่งมนต์เสน่ห์ทางการท่องเที่ยว แต่ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับชุมชนผู้ค้ารายย่อย แผงค้าเสื้อผ้าและของที่ระลึกชายหาดเมื่อปลายปีพ.ศ.2551 สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการจัดสรรผลประโยชน์ ความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างอำนาจเงิน อำนาจโดยตำแหน่งและผู้ค้าอิสระรายย่อยแห่งชายหาดหัวหิน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของบรรทัดฐานและค่านิยมในสังคมไทย
ดังนั้นงานวิจัยชิ้นนี้จึงเลือกใช้ทฤษฎีความขัดแย้งในเชิงสังคมวิทยามาเป็นแนวคิดใน
การศึกษา
         ทฤษฎีความขัดแย้งเป็นงานเขียนทางสังคมวิทยาในช่วง 2 ทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของบรรดานักวิชาการที่มีความเห็นต่างจากนักทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ (structural functionalism ) โดยสืบสายมาจากงานของเวเบอร์ (Weber) และมาร์กซ์ (Marx) ที่มีจุดเน้นต่างกันตรงที่มาร์กซเน้นที่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ส่วนเวเบอร์เน้นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจ (Weber) นักทฤษฎีความขัดแย้งเน้นว่าผลประโยชน์สำคัญกว่าบรรทัดฐานและค่านิยมและเห็นว่าความขัดแย้งในผลประโยชน์ก่อให้เกิดความขัดแย้งประเภทต่างๆซึ่งเป็นธรรมชาติของชีวิตสังคม ไม่ได้เป็นสิ่งพิเศษที่ขัดขวางการดำเนินไปของสังคม ตัวอย่างเช่น ราล์ฟ ดาห์เรนดอร์ฟ แม้จะวิจารณ์แนวความคิดของ มาร์กซ์ เรื่องชนชั้นไว้ ก็ได้พิจารณาเห็นว่าชนชั้นในสังคมยุคหลังทุนนิยม (post-capitalist) มีที่มาจากตำแหน่งในองค์กรและเป็นการขัดแย้งเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมหรือไม่มีส่วนร่วมในการใช้อำนาจหน้าที่ ราล์ฟ ดาห์เรนดอร์ฟ เสนอว่าทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ไม่ได้ผิด หากแต่ไม่สมบูรณ์และกล่าวว่าอำนาจหน้าที่ในสังคมไม่เพียงก่อให้เกิดบูรณาการเท่านั้นแต่นำมาซึ่งความแตกแยกด้วย เพราะเป็นแนวคิดที่ใช้บังคับเหนือผลประโยชน์ที่ขัดกัน ในขณะเดียวกันเขาก็เสนอแนวคิดที่ขัดแย้งกับมาร์กซ์ว่า ความขัดแย้งทางสังคมนั้นมีหลายมิติ และไม่ได้รวมอยู่กับประเด็นเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น นักทฤษฎีความขัดแย้งไม่ได้อ้างว่าทฤษฎีของตนเป็นทฤษฎีที่ใช้ได้ทั่วไปหากแต่เน้นว่าทฤษฎีความขัดแย้งเป็นที่มาของระเบียบสังคม ส่วนจอห์น เร็กซ์ (John Rex) เสนอทฤษฎีความขัดแย้งที่เป็นแนวมาร์กซ์มากกว่า แต่งานของล็อควูด (Lockwood) เสนอว่าเราสามารถแยกความแตกต่างระหว่างบูรณาการเชิงระบบ ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆของระบบสังคม เช่น ระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองกับบูรณาการทางสังคมซึ่งหมายถึง บรรทัดฐานและค่านิยม นักทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่มีแนวโน้มผสมผสานสองแนวคิดนี้เข้าด้วยกันและให้ความสำคัญกับบูรณาการทางสังคมก่อน ถ้าหากยังคงมีบูรณาการทางสังคม บูรณาการเชิงระบบก็มีด้วย ส่วนหลุยส์ โคเซอร์ ( Lewis Coser) พยายามผสานทฤษฎีความขัดแย้งทางสังคมกับทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ และมองว่าเป็นกระบวนการของการจัดการกับความตึงเครียดซึ่งจะนำไปสู่การจัดการกับส่วนของกระบวนการบูรณาการแบบใหม่เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งแรนเดิล คอลลินส์ (Randall Collins) เสนอทฤษฎีความขัดแย้งที่เด่นตรงที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษในระดับการวิเคราะห์จุลภาค คือตัวแสดงที่เป็นปัจเจก ซึ่งคอลลินส์อ้างว่าทฤษฎีของตนมีที่มาจากอีกแหล่งหนึ่งคือ ปรากฏการณ์นิยม (phenomenology) และต่อมาในทศวรรษ 1980 เขาได้พยายามสร้างทฤษฎีสังคมวิทยาจุลภาคที่เน้นบทบาทของการปฏิสัมพันธ์ว่าเป็นหน่วยพื้นฐานในการสร้างระเบียบสังคม เมื่อสำนักมาร์กซ์เป็นพลังสำคัญในการสร้างทฤษฎีสำคัญในช่วงทศวรรษ 1960 ข้อถกเถียงเหล่านี้จางหายไป และทฤษฎีความขัดแย้งได้หลอมรวมเข้าไปในแนวทฤษฎีสังคมแบบมาร์กซ์และเวเบอร์ในสังคมวิทยาสมัยใหม่ การกล่าวถึงความขัดแย้งจึงมีพัฒนาการปรากฏในงานของ แอนโทนี กิดเดนส์ (Antony Giddens) และงานของคนอื่นๆเกี่ยวกับทฤษฎีทางเลือกอย่างมีเหตุผล (Gordon Marshall ,1994,pp.82-83.)
ในสังคมไทยแม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติถึงสิทธิที่เท่าเทียมกันในสังคมแต่ในมิติของความเป็นจริงกลับปรากฏให้เห็นถึงความแตกต่างขัดแย้งให้เห็นชัดเจน อาทิ คนที่มีชาติตระกูลสูงจะมีโอกาสในด้านตำแหน่งหน้าที่การงานมากกว่าลูกหลานชาวบ้าน คนที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยของรัฐมักมีโอกาสดีกว่าผู้ที่จบการศึกษาจากสถาบันเอกชน คนที่จบการศึกษาจากต่างประเทศมักมีโอกาสก้าวหน้ากว่าคนที่จบการศึกษาในประเทศ เป็นต้น
ในวัฒนธรรมของต่างประเทศก็ยังมีการกลั่นกรองคุณภาพของบุคลากรระดับหนึ่ง เช่น ต้องมีจดหมายแนะนำตัว (Recommendation Letter) ในการสมัครงาน สมัครเรียนและทำธุรกิจอย่างขาดมิได้ ในสังคมไทยการศึกษาอาจทำให้สามารถเลื่อนตำแหน่งและฐานะทางสังคมได้ แต่ถ้าขาดความเกื้อหนุนด้วยชาติตระกูลโดยระบบอุปถัมภ์แล้วก็จะทำให้การมีส่วนร่วมในการบริโภคทรัพยากรของประเทศทำได้ยาก ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมไทย
ที่ตั้งและสภาพทั่วไปของหัวหิน
          หัวหินเป็นอำเภอหนึ่งบนชายฝั่งทะเลของอ่าวไทย ในเขตการปกครองของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯไปทางทิศใต้ 204 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 90 กิโลเมตร
ในพ.ศ. 2480 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ดูแลพื้นที่ตำบลหัวหินและตำบลหนองแก กิ่งอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่รับผิดชอบ 72 ตารางกิโลเมตร ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2538 โดยขยายเขตเพิ่มเติมจากเดิม 72 ตารางกิโลเมตร เป็น 86.36 ตารางกิโลเมตรหรือ 53,975 ไร่ จากการขยายพื้นที่ลงไปในทะเลประมาณ 500 เมตร
ระยะแรกเทศบาลตำบลหัวหินมีราษฎรประมาณ 4,000 คน มีบ้านเรือนประมาณ 500 หลัง และมีรายได้ประมาณ 30,000-40,000 บาท ในพ.ศ. 2492 กิ่งอำเภอหัวหินยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอหัวหิน และกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแปลงฐานะจากเทศบาลตำบลหัวหินเป็นเทศบาลเมืองหัวหินเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ปัจจุบันเทศบาลเมืองหัวหิน มีจำนวนประชากร 53,586 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31มีนาคม 2552)

วิวัฒนาการเชิงภูมิศาสตร์สังคม
พื้นที่หัวเมืองชายทะเลแถบเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์น่าจะเป็นที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา หลักฐานพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาระบุถึงการเสด็จฯประพาสชลมารคมาตามหัวเมืองดังกล่าวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรถไปถึงเขาสามร้อยยอด และขากลับยังได้เสด็จฯประทับแรมที่บ้านโตนดหลวง ในเขตอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีด้วยและในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์เสด็จฯประพาสทางเรือไปยังเพชรบุรีและประชวรระหว่างทาง แต่เมื่อเสด็จฯถึงชายหาดแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี พระอาการประชวรก็หายไป จึงพระราชทานนามให้แก่ชายหาดแห่งนั้นว่า หาดเจ้าสำราญ (กรมศิลปากร : 2534 : 176)

วิวัฒนาการเชิงภูมิศาสตร์สังคมของเมืองหัวหินแบ่งออกเป็น 4 ยุค ดังนี้
ยุคที่1 ชุมชนเกษตรกรรมพื้นบ้านและหมู่บ้านชายประมงชายฝั่ง
อรุณ กระแสสินธุ์ เล่าถึงการสร้างบ้านเรือนของราษฎรกลุ่มแรกในหัวหินว่าเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 200 ปีมาแล้ว โดยถือเอา พ.ศ. 2352 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ เสด็จฯยาตราทัพมาทางปักษ์ใต้จากเมืองเพชรบุรีผ่านตำบลชะอำ และนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) มหาดเล็กผู้โดยเสด็จฯบันทึกเป็นโคลงนิราศอ้างถึงชุมชนชาวชะอำและชุมชนชาวทับใต้ (เทศบาลเมืองหัวหิน : 2549: 4) ไม่ปรากฏชื่อหมู่บ้านบางควาย ตำบลห้วยทราย ตำบลบ่อฝ้าย หรือตำบลหนองแกเพราะตำบลทับไต้อยู่ห่างจากตำบลหัวหินไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 120 เส้นหรือประมาณ9.6 กิโลเมตร (เทศบาลเมืองหัวหิน : 2549: 5) โคลงนิราศนี้ชี้ให้เห็นว่าในพ.ศ. 2352 ตำบลหัวหินอาจจะยังไม่ตั้งขึ้นเพราะสภาพภูมิประเทศยังเป็นป่าทึบ แต่อาจมีชาวบ้านตำบลหนองแกหรือตำบลชระอำมาทำไร่แตงโมบ้างเป็นกลุ่มๆ ชุมชนใกล้เคียงที่สุดอยู่ห่างไปทางทิศใต้ คือ หมู่บ้านชาวประมง “เขาตะเกียบ” ห่างจากหัวหินราว 7 กิโลเมตร ส่วนทางเหนือก็มีชุมชนบ้านบ่อฝ้ายตั้งอยู่ ต่อมาก็มีราษฎรจากบ้านบางจานและบ้านบางแก้ว จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งประสบกับปัญหาการทำมาหากินชักชวนกันมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่รกร้างที่ตำบลหัวหินเพิ่มขึ้น ในปีพ.ศ.2377 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) พบว่าในเขตพื้นที่เมืองเพชรบุรีมีหาดทรายชายทะเลแปลกกว่าที่อื่น คือ มีกลุ่มหินกระจัดกระจายอยู่อย่างสวยงาม จึงสันนิษฐานว่าแต่เดิมหัวหินอาจมีชื่อเรียกกันว่า “บ้านสมอเรียง” “บ้านหินเรียง” “บ้านหัวกรวด” และ “แหลมหิน” เป็นต้น คำว่า “สมอ” นั้นอาจเพี้ยนมาจาก “ถมอ” ในภาษาเขมร ซึ่งแปลว่า “หิน”
คนรุ่นใหม่อาจตั้งข้อสงสัยว่า ภาษาเขมรเข้ามาเกี่ยวกับภูมิภาคชายฝั่งตะวันตกได้อย่างไร จึงขออธิบายโดยสังเขปว่า นับแต่สังคมไทยรับเอาภาษาขอม-เขมรมาใช้ตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยเฉพาะในคัมภีร์ใบลานก็มีการจารึกเนื้อหาของพระไตรปิฏกเอาไว้ ทำให้ผู้ที่จะสอบเปรียญต้องศึกษาอักษรขอม-เขมรให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งจึงจะสามารถสอบคัมภีร์ใบลานผ่านได้ วัฒนธรรมดังกล่าวเลิกไปหลังพ.ศ. 2500 ไม่นานนัก กระนั้นก็ตามรีสอร์ทบางแห่งของทายาทชนชั้นสูงยังได้พลิกแพลงย้อนกลับไปนำภาษาเขมรโบราณมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์เนมใหม่ว่า “กบาลถมอ” ซึ่งแปลว่า “หัวหิน”
นายทักษ์ เตชะปัญญา อดีตประธานสภาเทศบาลตำบลหัวหินให้สัมภาษณ์แก่แพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐเมื่อพ.ศ.2544 ว่า
“...สมัยกรมพระนเรศวรฤทธิ์ท่านเสด็จมาประทับเป็นประจำเสมือนหนึ่งเป็นชาวหัวหินก็บอกว่า ชื่อแหลมหินมันเชยเปลี่ยนเสียใหม่ว่า หัวหิน....” (กรรณิการ์ ตันประเสริฐ :2546 :47)
ระหว่างการสำรวจพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลทั่วไป เมื่อถามชาวบ้านบริเวณแพปลาที่ชุมชนสมอเรียงว่า “สมอเรียง” หมายถึงอะไร ก็ได้รับคำตอบว่า หมายถึง การเรียงสมอเรือตามชายหาด นอกจากนี้หินที่ชายหาดหัวหินก็มีลักษณะเป็นก้อนหินที่ผุดขึ้นมาบนชายหาด มิได้มีลักษณะที่ถูกจัดเรียงวางตามที่ชื่อของชุมชนแต่อย่างใด
ราษฎรกลุ่มแรกที่อพยพมาถึงหัวหินมี 2 ครอบครัว คือ ครอบครัวของนายทองและนางอยู่ กับครอบครัวของนายวัดและนางแก้ว ซึ่งถือเป็นบรรพบุรุษของ 5 ตระกูลเก่าแก่ของหัวหิน ซึ่งประกอบด้วย ตระกูลกระแสสินธุ์ ตระกูลสาธุการ สืบเชื้อสายจาก นายทอง-นางอยู่ ตระกูลเทียมทัด ตระกูลวัดขนาด และตระกูลชูตระกูล-สืบเชื้อสายจาก นายวัด-นางแก้ว ต่อมาก็มีตระกูลอื่นๆอพยพเข้ามาเพิ่มเติม ได้แก่ ตระกูลปัญจรัตน์ ตระกูลมัชวงศ์ ตระกูลศรีสวัสดิ์ ตระกูลเล็กน้อย ตระกูลฉิ่งเล็ก ตระกูลเห่งรวย ตระกูลไวดาบ ตระกูลสีดอกบวบ ตระกูลธรรมโชติ ตระกูลแดงช่วง ตระกูลมากหมู่ ตระกูลเชียงโชติ ตระกูลฮะโหม ตระกูลกาญจโนมัย ตระกูลสรรวิริยะ ตระกูลฮีกหาญและตระกูลจูวงศ์ เป็นต้น (สุกัญญา ไชยภาษี : 2551 :10) ความกันดารน้ำทำให้ชาวหัวหินยุคแรกประกอบอาชีพทำไร่แตงโมซึ่งเติบโตดีในดินกรวดปนทราย จนกลายเป็นตำนานแตงโมหัวหินรสหวานกรอบอร่อยแข่งกับแตงโมไร่บางเบิด ประจวบคีรีขันธ์ของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากรซึ่งปลูกตามระบบเกษตรกรรมสมัยใหม่ แต่อาชีพประมงชายฝั่งเป็นที่มาของการสร้างบ้านเรือนของชาวหัวหินอย่างถาวร จนกระทั่งมีการแต่งตั้งนายวัดและนายทองขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองลูกบ้าน (สุกัญญา ไชยภาษี :2551 : 11)
ยุคที่ 2 การสำราญพระอิริยาบถและพัฒนาการของแหล่งตากอากาศ (พ.ศ.2452-2475)
สรศัลย์ แพ่งสภากล่าวในหนังสือ ราตรีประดับดาวที่หัวหิน ว่าปลายรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องกับสมัยรัชกาลที่6 (ระหว่าง พ.ศ. 2452-2460) นายช่างชาวอังกฤษ ชื่อ มิสเตอร์ เฮนรี กิตตินส์(Henry Gittins)เจ้ากรมรถไฟหลวงสายใต้ (สรศัลย์ แพ่งสภา: 2539: 27) สำรวจเส้นทางจากเพชรบุรีมุ่งสู่ภาคใต้ของประเทศไทยผ่านภูมิประเทศแห้งแล้งกันดาร จนพบพื้นที่อ่าวมีหาดทรายสีขาวเป็นแนวยาวจากกลุ่มแนวโขดหินใหญ่จรดเขาตะเกียบ จึงนำความกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินซึ่งดำรงพระยศเป็นที่ปรึกษากรมรถไฟหลวง เมื่อทางรถไฟสายใต้จากสถานีบางกอกน้อยถึงเขตบ้านสมอเรียงสร้างเสร็จแล้ว ทำให้การคมนาคมไปยังหัวหินสะดวกสบายขึ้น พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตลอดจนพ่อค้าและคหบดี จึงไปซื้อที่ดินบริเวณชายหาดบ้านสมอเรียงซึ่งมีทิวทัศน์งดงาม เพื่อสร้างบ้านพักตากอากาศและเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า “หัวหิน” ตามชื่อหาดหน้าพระตำหนักของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
ในยุคนี้หัวหินเป็นที่พักตากอากาศเฉพาะของเจ้านาย พระราชวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่ เพื่อสุขภาพตามกระแสนิยม แต่การเดินทางไปหัวหินกลับไม่สะดวกนัก การเสด็จแต่ละครั้งของเจ้านายต้องใช้รถไฟและม้าเป็นพาหนะเนื่องจากถนนยังสร้างไปไม่ถึง ที่พักในหัวหินมีเพียงตำหนักเจ้านายเรือนเสนาบดี และบ้านพักคหบดีไม่กี่ท่าน รวมถึงโรงแรมรถไฟเพียงแห่งเดียวที่จำนวนห้องพักก็ไม่มาก เจ้านายบางพระองค์จึงต้องแบ่งเรือนให้กับผู้ใกล้ชิดยืมหรือเช่าในฤดูตากอากาศ
          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ (ต้นราชสกุลกฤดากร) เป็นเจ้านายพระองค์แรกที่สร้างพระตำหนักหลังใหญ่ชายทะเลด้านใต้ของหมู่หิน (ติดกับโรงแรมรถไฟหัวหิน)และประทานชื่อว่า“ตำหนักแสนสำราญสุขเวศน์” ต่อมาทรงปลูกตำหนักอีกหลังหนึ่งแยกเป็น “แสนสำราญ” และ “สุขเวศน์” เพื่อไว้ใช้รับเสด็จฯเจ้านาย และทรงสร้างเรือนเล็กใต้ถุนสูงเพิ่มอีกหลายหลัง ชื่อว่า บานฤทัย ใจชื่น รื่นจิตต์ ปลิดกังวล ดลสุขเพลิน เจริญอาหาร สมานอารมณ์และรับลมทะเล (ม.ร.ว.รมณียฉัตร แก้วกิริยา:มปป:99) ต่อมาหมู่เรือเหล่านี้ได้พัฒนาเป็น “บังกะโลสุขเวศน์”
          ที่ดินของราชสกุลกฤดากรซึ่งตกทอดมาถึง ม.ล.ลักษสุภา กฤดากร บุตรี ม.ร.ว.สุทธิสวาท กฤดากร อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศอาร์เจนตินาและฮังการี นับเป็นที่ดินไม่กี่แปลงที่ยังคงอยู่ในการครอบครองของเจ้าของเดิม ราชสกุลกฤดากรได้รับมรดกที่ดินติดชายทะเลและถนนนเรศดำริห์ จำนวน 7 ไร่ จาก 21 ไร่ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ เกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ ม.ล.ลักษสุภา กฤดากร เล่าถึงความประทับใจและความทรงจำดีๆของหัวหินว่า
          “ก่อนที่ดินแปลงนี้จะถูกแบ่งเป็นมรดก เรามีบ้านเช่าอยู่ 3 หลัง แล้วก็มีตัวตึก
ใหญ่ที่สร้างให้ครอบครัวอยู่ เพราะดิฉันเป็นซิงเกิ้ลมัม 15 ปีก็เลยต้องดูแลครอบครัวด้วย พอได้ที่ดินมา 7 ไร่ก็ตัดสินใจรื้อบ้านเช่าไปถวายพระแล้วตัดสินใจสร้างเป็นรีสอร์ตขึ้นมา (บ้านลักษสุภารีสอร์ต) โดยอาศัยประสบการณ์จากการที่เราเดินทางเป็นลูกทูต และผูกพันกับหัวหินมาตั้งแต่อายุได้ 3 ขวบ มักไปพักผ่อนกันทั้งครอบครัวในช่วงหน้าร้อนถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สนุกสนานและมีความสุขที่สุดด้วยบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติและทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว เช่นขี่ม้า ซึ่งในสมัยเด็กจะชอบเก็บเม็ดมะกล่ำตาหนูซึ่งเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งมาเล่นกับพี่น้อง แล้วก็จะชอบเก็บดอกลั่นทมที่มีอยู่ในรั้วบ้านมาร้อยเป็นพวงมาลัย หัวหินในอดีตและปัจจุบันก็ไม่ต่างกันมากนักเพราะยังคงความสวยงามและมีม้าให้ขี่อยู่ แม่ค้าที่เคยขายของหาบเร่ก็ยังจำกันได้เพราะรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยก่อน พอมาถึงรุ่นลูกก็จะพาพวกเขามาพักผ่อนที่นี่เป็นประจำโดยกิจกรรมที่ทำร่วมกันก็ปรับเปลี่ยนเล็กน้อยให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ที่หัวหินเดี๋ยวนี้มีร้านอาหารเพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงกลิ่นอายของความเป็นหัวหินอยู่ กลับมาที่นี่ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไปก็ยังคงความรู้สึกเหมือนเก่า” สำหรับคุณแม่อาภา กฤดากร กล่าวว่า “ สมัยก่อนตอนเด็กๆท่านพ่อกับท่านแม่จะพาไปเที่ยวหัวหินเป็นประจำ คิดว่าหัวหินเป็นเมืองที่เงียบสงบ ไปแล้วจะมีรอยยิ้มแห่งความสุขทุกครั้งเป็นที่ที่มีความสดใส หาดทรายสะอาด ที่สำคัญเหมือนเป็นสถานที่รวมกลุ่มพบปะของบรรดาญาติพี่น้อง เพราะทุกคนไปแล้วมีความสุข” (อสังหาริมทรัพย์ :4 เมษายน 2547 17:11)
          ม.ร.ว.รมณียฉัตร (ดิศกุล) แก้วกิริยา ธิดาหม่อมเจ้าพิริยดิศ ดิศกุล (พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) นัดดาในพลเอกพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินบันทึกถึงทำเลที่ตั้งของบ้านเจ้านายและบุคคลสำคัญในหัวหินว่า ถัดจากบ้านสุขเวศน์ไปทางใต้ของกองหินเรียงมีบ้านพลับป่า ก. และบ้านพลับป่า ข.ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ต้นราชสกุลเทวกุล ถัดเป็นเป็นบ้านของราชสกุลยุคล บ้านรวมสุข(นายพจน์ สารสิน อดีตนายกรัฐมนตรี) บ้านมะขามโทนและบ้านสนล้อม(พระยาภิรมย์ภักดี สกุลภิรมย์ภักดี) บ้านสมประสงค์(ราชสกุลบริพัตร) บ้านอรฉัตร(พระองค์เจ้าเหมวดี) บ้าน ณ ระนอง(พระยาประดิพัทธภูบาล) บ้านพิชัยญาติ(สายสกุลบุนนาค) บ้านคอกหมู(สกุลไกรฤกษ์) และบ้านสุจริตกุล(สกุลสุจริตกุล) ทางเหนือของกองหินขึ้นไปใกล้กับโรงแรมรถไฟเป็นบ้านจักรพงษ์ ของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ(ราชสกุลจักรพงษ์) ซึ่งทรงสร้างตำหนักใหญ่ขึ้น 2 หลัง คือ ตำหนักขาว และตำหนักเทารวมถึงเรือนเล็กอีกหลายหลัง ต่อมาได้ชื่อว่า บ้านจักรพงษ์ และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงแรมเมเลีย(ปัจจุบัน คือ โรงแรมฮิลตัน) ถัดไปเป็นบ้านพุทธรักษา สำนักดิศกุล บ้านเพลินสุขและบ้านเกตุทัต (ม.ร.ว.รมณียฉัตร แก้วกิริยา เรื่องเดิม : 99-100)

          หัวหินเป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศริมทะเลมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2463 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2453- 2468 ) ได้โปรดเกล้าฯให้สร้างโฮเต็ลรถไฟและเดอะรอยัลหัวหินกอล์ฟคอร์ส(The Royal Hua Hin Golf Course) ขึ้นเป็นสนามกอล์ฟแห่งแรกของไทย ต่อมาเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมที่ค่ายหลวงบางทะลุ ปากคลองบางทะลุ ชายทะเลเมืองเพชรบุรี และพระราชทานนามว่า “ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ” ต่อมาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวันขึ้นที่ชายหาดตำบลบางกรา (คือ ตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำ)ใน พ.ศ.2464 อันเป็นปีที่ทางรถไฟสายใต้เชื่อมเข้ากับเส้นทางรถไฟของรัฐมลายู และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้หัวหินเป็นสถานตากอากาศทันสมัยที่สุดในการรับรองชาวต่างประเทศ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างโฮเต็ลรถไฟหัวหินแห่งสยามประเทศ (Hua Hin Hotel Siam) และสนามกอล์ฟหลวงหัวหินที่สวยงามและได้มาตรฐานที่สุดในภูมิภาคขึ้นโดยเปิดดำเนินการในปีพ.ศ.2465 ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็ได้พระราชทานชื่อสนามกอล์ฟแห่งนี้ว่า “เดอะ รอยัล หัวหิน กอล์ฟคอร์ส (The Royal Hua Hin Golf Course-สนามกอล์ฟหลวง)”




การสร้างวังไกลกังวลในสมัยรัชกาลที่ 7
ความเฟื่องฟูของหัวหินเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อโปรดเกล้าฯให้สร้างวังไกลกังวลขึ้นในปี พ.ศ.2469 วังไกลกังวล เป็นวังส่วนพระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานแด่พระมเหสี คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จากพระคลังข้างที่ อยู่ห่างจากหาดหัวหินไปทางทิศเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ พระตำหนักต่างๆในวังไกลกังวล ได้แก่ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระตำหนักปลุกเกษม ตำหนักเอิบเปรมและตำหนักเอมปรีดิ์ โดยมีวิศวกรชาวต่างประเทศเป็นผู้เดินทางไปควบคุมการก่อสร้างทุกเดือนโดยพักที่โรงแรมรถไฟดังปรากฏหลักฐานค่าใช้จ่ายประกอบด้วย “ค่าที่พัก 4 บาท น้ำชาเช้า 50 สตางค์ อาหารเช้า 1 บาท 75 สตางค์ อาหารกลางวัน 2 บาท 75 สตางค์ อาหารเย็น 3 บาท” (กรรณิการ์ ตันประเสริฐ : เรื่องเดิม : 17 )
          รัชกาลที่ 7 ทรงเรียกวังไกลกังวลว่า สวนไกลกังวล และไม่ปรากฏหลักฐานเรื่องการยกวังไกลกังวลเป็นพระราชวังในหนังสือราชกิจจานุเบกษา จึงเรียกวังแห่งนี้ว่าวังไกลกังวลมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี การขาดแคลนน้ำในหัวหินเป็นปัญหาสำคัญ โดยปกติน้ำดื่มน้ำใช้ในวังไกลกังวลนำมาจากจังหวัดเพชรบุรีหรือปราณบุรี ทำให้มีหลักฐานว่าค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ในการประทับแรมที่หัวหินสูงยิ่งกว่าค่าใช้จ่ายเรื่องไฟฟ้า (กรรณิการ์ ตันประเสริฐ : เรื่องเดิม: 31)
การสร้างวังไกลกังวลแม้จะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจแก่ชาวท้องถิ่นเป็นอันมาก แต่ก็อาจสร้างความไม่พอใจแก่คนบางกลุ่ม จึงมีผู้ร้ายชุกชุมรบกวนการก่อสร้าง แม้จะมีการจ้างแขกยามเฝ้าทรัพย์สินเป็นเงินเดือนละ 35 บาทก็ตาม หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เกรงว่าการจับกุมคนร้ายจะทำให้เกิดความอาฆาตพยาบาท จึงกราบบังคมทูลฯรายงานว่า
          “บริเวณใกล้เคียงวังไกลกังวลมีผู้ร้ายชุกชุมตลอด เกล้ากระหม่อมพยายามจับคนร้าย
มอบอำเภอ เป็นเหตุให้เกิดมีผู้ประทุษร้ายฟันคนงานขึ้น ฝ่ายวังได้จับตัวส่งอำเภออีก แต่เกล้ากระหม่อมเกรงว่าจะเกิดการแก้เผ็ดติดต่อเนื่องไปไม่รู้แล้ว”
(กรรณิการ์ ตันประเสริฐ: เรื่องเดิม : 95)
          เจ้านายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหัวหินขณะสร้างวังไกลกังวล คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ต้นราชสกุลฉัตรชัย) ผู้สร้างตลาดฉัตร์ไชยบนที่ดินพระคลังข้างที่ โดยทรงออกแบบให้มีหลังคารูปโค้งครึ่งวงกลมต่อเนื่องกัน 7 โค้ง หมายถึงสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 7 ทั้งตัวอาคารและแผงขายสินค้ามีลักษณะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ตัวตลาดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และถูกสุขลักษณะที่สุดขณะนั้น ชื่อตลาดนำมาจากพระนามเดิมของพระองค์ การสร้างตลาดฉัตร์ไชยทำให้หัวหินเจริญเติบโตขึ้นเป็นสถานตากอากาศหรูหราและมีชื่อเสียงที่สุด แต่มีสิ่งที่น่าแปลกประการหนึ่งคือ ข้อมูลจากเชื้อพระวงศ์ท่านหนึ่งเล่าว่า กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินไม่ทรงมีที่ดินในหัวหินเลยแม้แต่น้อย สิ่งนี้อาจ สะท้อนให้เห็นว่าทรงปฎิบัติราชการด้วยหลักธรรมาภิบาลและไม่ทรงมีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ
           พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯแปรพระราชฐานมายังหัวหินอยู่เนืองๆ เอกสารทางการรัชกาลที่ 7 ระบุว่า ในพ.ศ.2471 ชาวพระนครและชาวต่างชาติเดินทางไปเที่ยวหัวหินถึงราว 10,000 คน ปีถัดมา(พ.ศ.2472) ชาวพระนครและชาวต่างชาติเดินทางไปเที่ยวหัวหินเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 คน (กรรณิการ์ ตันประเสริฐ : เรื่องเดิม: 5)

ปรากฎการณ์ชนวนแห่งความขัดแย้ง
ปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างเจ้านายและข้าราชการในการเดินทางไปพักผ่อนหัวหิน มีหลักฐานระบุว่า หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ทรงเคยมีเรื่องวิวาทกับนายจงใจภักดิ์ (สง่า ฉัตรภูติ) ที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 ปัญหาเริ่มจากการที่นายจงใจภักดิ์และครอบครัวกำลังจะขึ้นรถไฟโดยสารไปท่องเที่ยวหัวหิน ขณะที่รถไฟใกล้จะออก นายจงใจภักดิ์รีบขนของขึ้นรถไฟด้วยการส่งผ่านทางหน้าต่างรถไฟ โดยมิได้สังเกตว่ามีใครอยู่บริเวณนั้นบ้าง ได้ยินแต่เสียงของผู้ชายคนหนึ่ง(หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร) ให้ไปขนของผ่านด้านประตูรถไฟ นายจงใจภักดิ์ไม่ใส่ใจต่อการทักท้วงนั้น จึงเป็นเหตุให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์เข้ามาฉุดกระชากนายจงใจภักดิ์จนเกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์กล่าวโทษนายจงใจภักดิ์ว่ากำลังดูหมิ่นเจ้าและพระราชวงศ์จักรี เหตุการณ์ยิ่งบานปลายเมื่อนายกาเอตตี (ที่ปรึกษากรมศิลปากร) ซึ่งเป็นผู้ติดตามมากับหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ได้เข้ามาชกต่อยนายจงใจภักดิ์ (สง่า ฉัตรภูติ) จนทำให้เกิดการต่อสู้กันขึ้น ภายหลังหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ทูลเกล้าถวายฎีกากล่าวโทษนายจงใจภักดิ์เป็นจำเลยที่ 1 ผู้เป็นน้องเขยของพระอภัยวงศ์นรเศรษฐ (ช่วง อภัยวงศ์) เป็นจำเลยที่ 2 ด้วยการกล่าวโทษว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดโดยการยกของข้ามศีรษะโจทก์เอื้อมมือข้ามศีรษะหม่อมเจ้าวรรณวิลัย ทุบพระหัตถ์และหมิ่นประมาทโจทก์ รวมถึงชกต่อยพรรคพวกของโจทก์ และจำเลยที่ 2 กระทำผิดด้วยเหตุที่แม้ว่าจะมีฐานะเป็นพี่เขยจำเลยแต่ ...” เห็นเหตุร้ายไม่ยักช่วยข้างวงศ์จักรี กลับนั่งเฉยเชือนแบะแฉะเหมือนชอบใจ ควรมีโทษด้วยไซร้ไม่น่าโปรดปรานี” (หลักเมือง,วันที่ 16 กันยายน 2471)
          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาฎีกา และทรงโปรดเกล้าฯให้ขุนนางผู้ใหญ่ 5 คนเป็นกรรมการไต่สวน (พระยาวรพงศ์ พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ พระยาบำเรอศักดิ์ พระยาศรีวิกรมาทิตย์ และพระยามหาเทพ) หลังจากนั้นจึงทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำการไม่ต้องด้วยพระราชนิยมของข้าราชสำนัก จึงโปรดเกล้าฯให้นายจงใจภักดิ์ต้องออกจากราชการโดยไม่ได้รับเบี้ยบำนาญ ส่วนพี่ชายให้กระทรวงวังตำหนิโทษฐานไม่ห้ามปรามและโปรดให้งดฎีกาขอความเป็นธรรมของนายจงใจภักดิ์พร้อมให้มีพระราชกระแสให้ไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง กรณีพิพาทดังกล่าวถูกนำเสนอเป็นรายงานข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับและป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมากสะท้อนให้เห็นกระแสทางสังคมที่เริ่มมีความขัดแย้งทางความคิดและสถานภาพทางสังคมระหว่างเจ้านายและราษฎร (จิรวัฒน์ แสงทอง : 2546) นับเป็นปัญหาภายในสังคมไทยที่สะท้อนให้เห็นก่อนการปฏิวัติ พ.ศ. 2475
หากจะให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นธรรมตามบรรทัดฐานสากลก็อาจต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ดังนี้
-ประการแรก หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เป็นโอรสกรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ผู้บุกเบิกการท่องเที่ยวพักผ่อนตากอากาศเป็นพระองค์แรกที่หัวหิน ทรงเป็นพระอนุชาของพระองค์เจ้าบวรเดช นอกจากนี้ยังเป็นนักเรียกนอกที่จบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมที่ Ecole Nationale Superieure des Beaux Arts กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเป็นสถาปนิกไทยท่านแรกที่สำเร็จวิชาสถาปัตยกรรมจากตะวันตกและกลับมาประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 พ.ศ.2457 ( โชติ กัลยาณมิตร: 2525 : 70) จึงนับได้ว่าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับราชสำนักที่ไม่สามารถอ้างได้ว่าข้าราชสำนักจะไม่รู้จัก ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามกฎมนเทียรบาลซึ่งระยะเวลานั้นสยามยังอยู่ในระบอบการปกครองแบบสมบูรณ์ณาญาสิทธิราชย์ที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้
-ประการที่สอง นายจงใจภักดิ์เป็นข้าราชการฝ่ายกรมวัง ควรได้รับการศึกษาด้านกิริยามารยาทและระเบียบข้าราชสำนักมาแล้ว ดังปรากฏโดยสังเขปในพระราชกำหนดเก่าว่า “ห้ามนำคนหินชาติถวายเป็นมหาดเล็ก” (กฎหมายตราสามดวงเล่ม 5 : 2537 :150) อย่างไรก็ดีการขนของขึ้นทางหน้าต่างรถไฟเป็นเรื่องปกติของชาวบ้านอยู่แล้ว หากอ้างว่ารถไฟกำลังจะออกมิได้สังเกตว่ามีผู้ใดนั่งอยู่ก่อน ซึ่งในที่นี้คือเจ้านายชั้นหม่อมเจ้า ก็ถือเป็นเรื่องน่าเห็นใจ และถือเป็นคราวเคราะห์ของนายจงใจภักดิ์
ประการที่สาม ระหว่างการขึ้นโดยสารรถไฟ การที่มีผู้บอกนายจงใจภักดิ์ว่าให้ขนของไปขึ้นทางประตูก็แสดงว่ารถไฟยังไม่ออกก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามหลักการและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น หากรถไฟกำลังจะออกแล้วบอกให้ขนของตามทางปกติก็ถือว่าขาดเมตตาและจิตใจคับแคบเช่นกัน อย่างไรก็ตามไม่ว่าเจ้านาย หรือข้าราชสำนัก การยกของข้ามเพื่อแย่งที่นั่งในรถไฟก็เป็นเรื่องไม่ควรเช่นกัน ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องวิวาทส่วนตัวเปรียบเสมือนน้ำผึ้งหยดเดียวที่ถูกนำไปขยายผลต่อให้เข้ากับความขัดแย้งทางการเมืองที่เสมือนคลื่นใต้น้ำในปลายสมัยรัชกาลที่ 7 โดยสะท้อนให้เห็นจากการตีพิมพ์ข่าวดังกล่าวอย่างครึกโครมในหน้าหนังสือพิมพ์
ยุคที่ 3 จากยุคคณะราษฎรถึงยุคปริศนาพาฝัน (พ.ศ.2475-2510)
               หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 กระแสต่อต้านเจ้ารุนแรงมาก หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุลทรงเล่าว่า
          “...หัวหินกลายเป็นที่ชุมนุมชนทุกชั้น มีตั้งแต่คณะรัฐมนตรีใหม่และพระยามโนฯ นายกรัฐมนตรี พระยาศรีวิศาลวาจาและนายประยูร ภมรมนตรี ออกไปอยู่ตามหัวเมือง พวกทหารโดยมากไม่มีงานทำในหลวงจึงทรงพระดำริจะจับจองที่ว่างทางหลังเขา แบ่งเป็นผืนๆ ให้พวกเหล่านี้ปลูกปอ และจะทรงลงทุนทำโรงงานทำกระสอบข้าวเล็กๆขึ้นในแถวนั้น โปรดให้กรมพระกำแพงฯไปติดต่อกับทางบริษัทในเมืองManila ยังไม่ทันเป็นผลสำเร็จในหลวงก็ถูกกล่าวหาว่าทำทางไว้จะหนีไปเมืองพม่า
พวกผู้ดีสมัยใหม่ก็ ‘enjoy ’ ไปตากอากาศที่หัวหิน จนถึงมีรถไฟพิเศษลดราคาสำหรับให้คนไปเที่ยวแน่นๆในวัน ‘weekend’ และพวกเราที่ถูกเตะออกไปใหม่ๆ ก็เป็นตัวแมลงสำหรับคนเหล่านี้ไปเดินผ่านดูด้วยความเยาะเย้ยต่างๆ บางคนก็ยังรู้จัก บางคนก็แกล้งไม่รู้จัก คำว่า ‘เสรีภาพ’ ‘เสมอภาค’ ‘ภราดรภาพ’ เป็นสิ่งที่มึนเมาอย่างน่าสะพรึงกลัว ครั้งหนึ่งหม่อมเจ้าทองเติม ทองแถม ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นรถไฟนั่งมาทางกรุงเทพฯ มีชายคนหนึ่งเข้าไปนั่งข้างๆแล้วเหยียดตีนไปที่หัวเข่าและหัวเราะพูดว่า ‘ไหนลองเหยียดตีนใส่เจ้าดูสักที’ พี่ทองเติม(our cousin) ตอบว่า ‘ได้ แต่อย่าให้ถูกตัวฉันก็แล้วกัน ถ้าถูกจะตบหน้าให้ดูว่าเขาปราบกิริยาชั่วกันอย่างไร’ ชายผู้นั้นก็เลยทำหน้าแหยๆแล้วลุกๆไป...” (ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล : 2546 : 68-69)

         หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุลเล่าว่า กระแสต่อต้านเจ้าทำให้หัวหินมีคนแปลกหน้าซึ่ง
ตอนหลังทรงสืบได้ว่าเป็นพวกนักเรียนกฎหมายเดินเล่นทุกหนทุกแห่ง พลอยทำให้ราษฎรในหัวหินแบ่งออกเป็น 2 พวก คือ
          “...พวกผู้ใหญ่ยังมาหาเจ้าและคอยบอกเหตุการณ์แต่พวกหนุ่มๆ เปลี่ยนกิริยาเป็นแบบ
เสรีภาพเที่ยวเดินตรวจดูทั้งทางหน้าบ้านหลังบ้านตามสบาย ถ้าเห็นพวกสาวๆก็ทำ
ท่าทางจะเกี้ยวไปทุกหนทุกแห่ง...” (ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล : เรื่องเดิม: 75)
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุลบันทึกถึงพฤติกรรมจาบจ้วงของกลุ่มต่อต้านเจ้าว่า
“เย็นวันหนึ่งในหลวงทรงพระดำเนินเล่นตามชายหาดทางโฮเต็ล ราษฎรหาบของกินขาย
จำได้ก็วางหาบลงนั่งถวายบังคม ในหลวงตรัสทักว่า ‘ขายอะไร?’ ยายคนนั้นดีใจพนม
มือทูลตอบ พอเสด็จเลยไปนิดเดียวก็มีชายหนุ่ม 2 คนแวะเข้าไปขู่ถามยายคนขายของ
นั้นว่า ‘หน้ายาวขึ้นไหมที่ในหลวงพูดด้วยน่ะ?’ ยายคนนั้นตอบว่า ‘ธุระอะไรของมึง’ แล้ว
วันรุ่งขึ้นแกก็มาเล่าให้เราฟังว่า มันแต่งตัวกางเกงสั้นใส่เสื้อขาว มีผ้าเช็ดหน้าเหลืองโผล่
ที่กระเป๋าเสื้อทั้ง2 คนและยังมีพวกใส่หมวกberetสีน้ำเงินอีกพวกหนึ่งที่รู้กันดีว่าเป็น
พวกเกลียดเจ้า...” (ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล : เรื่องเดิม : 75 )
          ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ.2481-2487) รัฐบาลพยายามปรับปรุงสังคมไทยให้มีวัฒนธรรมทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ เช่น มีการออกรัฐนิยม ซึ่งประกอบไปด้วยการปลูกฝังวัฒนธรรมทั้งด้านภาษา การแต่งกาย ทรงผม กิริยา มารยาทและอื่นๆ ทำให้ผู้หญิงต้องแต่งกายด้วยกระโปรงกับเสื้อเข้าชุดกัน สวมหมวก เลิกนุ่งผ้าโจงกระเบนกับผ้าคาดอก ผู้ชายใส่เสื้อนอกเสื้อในครบชุด สวมหมวกและเปิดหมวกโค้งคำนับทักทายผู้ใหญ่เห็นชินตาที่โรงแรมรถไฟหัวหิน ผู้มีฐานะและคนชั้นสูงนิยมเดินทางไปพักผ่อนตามชายทะเล แม้แต่หม่อมเจ้าพจน์ปรีชา พระเอกในนิยายรักอมตะเรื่อง “ปริศนา” ของ ว.ณ. ประมวลมารค(พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต) ก็ทรงมีตำหนัก “มโนรมณ์” ที่หัวหิน ครอบครัวของปริศนาไปพักบังกะโลของกรมรถไฟหลวง ความรักของ “ท่านชายพจน์กับปริศนา” ท่ามกลางฟองคลื่นและหาดทรายสีขาวละเอียดโดยมีเสียงเพลง “หัวหินสิ้นมนต์รัก” กังวานก้องห้องเต้นรำของโรงแรมรถไฟ (เพลง “หัวหินสิ้นมนต์รัก” แต่งโดย ไสล ไกรเลิศ บันทึกเสียงครั้งแรกพ.ศ.2504 ขับร้องโดยสุเทพ วงศ์กำแหง)
          หญิงสาวที่ไปหัวหินมักนุ่งกางเกงขาสั้น ชุดว่ายน้ำ แต่งหน้า ทาปากและแก้มสีแดงชาด ทำผมหยิกเป็นลอน จนมีชายหนุ่มมาเกี้ยวพาราสีและตกหลุมรัก จึงมักได้ยินคำถามว่า สุภาพสตรีคนนั้นคนนี้เป็นลูกเต้าเหล่าใคร มีชาติตระกูลเป็นอย่างไรเพราะหนุ่มสาวที่จะไปเดินเล่นที่ชายหาดหัวหินได้ต้องว่าจัดเป็นคนมีชาติตระกูล
โรงแรมรถไฟซึ่งมีราคาค่อนข้างแพง คือ ค่าที่พักและค่าอาหารรวมวันละ 30 บาท ขณะนั้นข้าราชการระดับเจ้าพระยามีเงินเดือนๆละ 2,000 บาท ส่วนข้าราชการผู้น้อยมีเงินเดือนเพียงเดือนๆละ 50 บาท
ม.ร.ว.ชาญวุฒิ วรวรรณเล่าถึงการนั่งรถไฟและอาหารบนรถไฟว่า “ความหรรษาในการเดินทางไปหัวหินเมื่อหลายสิบปีก่อนต้องยกให้รถไฟ...สมัยนั้นเป็นเรื่องที่โก้มากที่นั่งบนรถไฟทำด้วยไม้ ภาชนะต่างๆสำหรับบริการอาหารทุกอย่างก็ใช้เครื่องเงินแท้ แถมอาหารที่เสิร์ฟบนโบกี้อร่อยมาก เป็นเมนูไข่เจียวแกงเขียวหวานคู่กับข้าวสวยร้อนๆให้คลายหิวได้แบบเต็มอิ่มไปกับทิวทัศน์ 2 ข้างทาง (WWW. Hua Hin hub.com)
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2484-2488) หัวหินมีบรรยากาศซบเซาเป็นช่วงสั้นๆ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเลย แต่เจ้านายและคหบดีซึ่งมีที่พักถาวรต่างพากันมาหลบพักที่หัวหินเป็นแรมปี
          หลังสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่นาน หัวหินกลับได้รับความนิยมอีกครั้งเรียกว่า “ยุคคลั่งไคล้หัวหิน (Hua Hin Fever”ระหว่างพ.ศ.2490-2492) ชาวกรุงเทพฯในวงสังคมทันสมัยต่างพากันไปพักที่บ้านตากอากาศของครอบครัวหรือที่โรงแรมรถไฟ ช่วงนี้เริ่มมีการสร้างโรงแรมและตึกแถวรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทำให้มีการสร้างโรงแรมหน้าตลาดฉัตร์ไชย เป็นต้น นิยายเรื่อง พล นิกร กิมหงวน ตอนมนต์รักที่หัวหินของ ป. อินทรปาลิตกล่าวถึงค่านิยมสมัยนั้นว่า
          "...ส่วนประเภทมีสตางค์หน่อย พอนึกจะไปตากอากาศ ก็เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าเดินทาง
แล้วขึ้นรถไฟตรงไปหัวหินทีเดียว ไปถึงที่นั่นหาโรงแรมถูกๆ พักเล่นข้างแกงตามตลาด เดินย่ำต๊อกวางมาดชายทะเลทุกเช้าเย็น แต่งตัวให้ภูมิฐานหน่อย อยู่ที่หัวหินสักหนึ่งอาทิตย์พอผิวเนื้อถูกแดดดำคล้ำก็กลับกรุงเทพฯ พบหน้าใครๆ ก็คุยอวดว่า ไปตากอากาศ ที่หัวหินกลับมา โรงแรมรถไฟที่นั่นสบายมาก สนามกอล์ฟงดงาม อาหารแพงหน่อย เพื่อนฝูงไม่รู้ความจริงก็เลยนับถือ เรื่องมันเป็นอย่างนี้จริงๆครับ ไม่ใช่ผมมดเท็จพูด ในวงสังคม ถ้าหากใครคนใดคนหนึ่งพูดว่า เขาไปหัวหินกลับมา ก็รู้สึกว่าเป็นของโก้เก๋เหลือเกิน.."
          ในพ.ศ.2493 ผู้ที่มีรถยนต์ก็สามารถไปเที่ยวหัวหินได้อย่างเป็นส่วนตัวเพราะทางหลวงหมายเลข4(ถนนเพชรเกษม)สร้างเสร็จแล้ว แต่รถยนต์ยังมีราคาแพงทำให้คนรวยยังเป็นผู้นำของการไปเที่ยวหัวหินและนำวัฒนธรรมการเดินเล่นยามเช้า (Morning walk) ไปด้วย(เดินจากประตูน้ำไปราชดำริและเพลินจิตเพื่อไปดื่มกาแฟ และรับประทานปาท่องโก๋ (หรือ อิ้วจาก้วย) โจ๊กไก่ หรือต้มเลือดหมู ) เนื่องจากมีการตัดถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถนนวิทยุและถนนราชดำริ ดังนั้นทุกเช้าจะเห็นนักท่องเที่ยวตากอากาศเดินทักทายคนรู้จักตามชายหาด แล้วก็ไปหาโจ๊ก หรือกาแฟและไข่ลวกรับประทาน กลายเป็นกิจวัตรยอดนิยมที่ส่งผลให้ “ร้านกาแฟเจ๊กเปี๊ยะ”ขายดี(สุกัญญา ไชยภาษี : 2551 :10)
           พาหนะที่ใช้ทั่วไปในหัวหิน คือ รถสามล้อถีบ ซึ่งก่อนหน้านั้นแม้แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จฯทรงตรวจงานการสร้าง “สวนไกลกังวล” ก็ยังทรงประทับอย่างผ่อนคลายพระอิริยาบถบนรถสามล้อแบบที่เรียกในปัจจุบันว่า “รถซาเล้ง” ทั้งนี้ หม่อมราชวงศ์ รมณียฉัตร (ดิศกุล) แก้วกิริยา สะท้อนถึงบรรยากาศของหัวหินในหนังสือคนละครตอนหนึ่งว่า
          “...พาหนะที่ใช้กันที่หัวหินจะเป็นรถถีบสามล้อ คนเฝ้าบ้านพักที่หัวหินส่วนใหญ่มักจะยึด
เป็นอาชีพรอง หารายได้พิเศษ โดยเฉพาะในช่วงฤดูตากอากาศและหลายๆครั้งที่ดาราชายหาดยึดเอามาเป็นพาหนะถีบเล่น ดาราชายหาดยุคก่อนที่เห็นได้ชัดจะมีสองรุ่น คือรุ่นป้าองค์หญิง(พระองค์หญิงสุทธิสิริโสภา) และวงศาคณาญาติรุ่นเดียวกัน ที่โลดโผนเป็นดาราดวงเด่นใส่บิกินี่หรือทูพีซเห็นจะมีพี่แจ่ม (จันทร์แจ่ม บุนนาค มารดาดร.เตช บุนนาค) ดาราชายหาดรุ่นนี้มาเริ่มเป็นดาราเมื่อหนุ่มสาวแล้ว กิจกรรมชายหาดก็จะเป็นในรูปสังสรรค์ต่างจากดาราชายหาดรุ่นต่อมา คือ รุ่นพี่ต้อ(ม.ร.ว. สุนิดา) รุ่นเราที่เริ่มกิจกรรมแต่เด็กๆ กลุ่มดาราชายหาดรุ่นใหญ่แถวสำนักดิศกุลมีสาวๆสวยๆเยอะ พี่หนู (ม.ร.ว.นุดีตรีทิพย์) พี่น้อย(ม.ร.ว.มานินีตรีทิพย์) พี่แมว(ม.ร.ว.บุศยทิพย์) พี่หมู(ม.ร.ว.สไบทิพย์) พี่หมอด(ม.ร.ว.ตาบทิพย์ พี่มด(ม.ร.ว.ระย้าทิพย์) แต่หนุ่มๆที่จะดอดมาตีท้ายครัวต้องลำบากหน่อยเนื่องจากต้องผ่านด่านท่านลุงน้อย(ม.จ.ดิศานุวัติ)ที่เป็นเสาหลักของตระกูล ถึงท่านจะประทับอยู่ในตำหนักก็จริงแต่จะทอดพระเนตรออกไปที่ชายหาด ถ้ามีผู้ชายคนไหนแวบเข้ามาทักทายสาวๆทุกคนจะถูกเรียกกลับขึ้นตำหนักทันที......
           ดาราชายหาดรุ่นจิ๋วนำขบวนด้วยพี่อ๋อย(ม.ร.ว.อดิศรฉัตร สุขสวัสดิ์) พี่หลาน (ม.ร.ว.อรฉัตร ซองทอง) พี่ต้อ(ม.ร.ว.สุนิดา กิติยากร) พี่แหวว(ม.ร.ว.พัฒนฉัตร รพีพัฒน์) ขิง(ม.ร.ว.ประกายฉัตร สุขสวัสดิ์)และอ้อย(ม.ร.ว.รมณียฉัตร)....”
            สำหรับบรรยากาศของตลาดฉัตร์ไชยนั้น ม.ร.ว.รมณียฉัตร แก้วกิริยาเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า
          “ ...ยามเศรษฐกิจดี ทุกวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือช่วงเทศกาลหยุดหลายๆวัน ก็จะมีคนเดินชนกันขวักไขว่แถวตลาดฉัตร์ไชย ร้านอาหารทุกร้านแน่นถึงต้องเข้าคิวรอ เคยไปรอที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดเจ้าอร่อย (ร้านเจ๊ไฝ) พอถึงเราได้โต๊ะเข้าไปนั่งเขาบอกว่าเหลือแต่คอเป็ดแล้วพี่...”(ม.ร.วรมณียฉัตรแก้วกิริยา:เรื่องเดิม:96)
            ม.ร.ว.ชาญวุฒิ วรวรรณ เล่าว่า “หัวหิน” เป็นเสมือน “ห้องรับแขก” ขนาดใหญ่
พอตกเย็นทุกคนก็ลงมาพบปะสังสรรค์เดินเล่นลัดเลาะไปตามชายหาดจนถึงเขา ตะเกียบส่วนตอนกลางคืนเด็กๆชอบลงไปจับปูลมขณะที่ผู้ใหญ่ก็มักเข้าป่าไปยิงกระต่าย พอกลับออกมาก็ได้เมนูผัดเผ็ดทำอาหารรับประทานร่วมกัน (www.hua hin hub.com )
ยุคที่4 การส่งเสริมการท่องเที่ยวและผลกระทบต่อชาวบ้าน
          ความซบเซาของหัวหินเกิดขึ้นหลังการประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่1
(พ.ศ.2504-2509)ทำให้มีการตัดถนนทั่วประเทศ นักท่องเที่ยวเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวกันมากขึ้น ประกอบกับมีสถานที่พักตากอากาศแห่งใหม่เกิดขึ้น เช่น สถานตากอากาศบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ชายหาดบางแสนและพัทยา จังหวัดชลบุรี และการสร้างถนนสุขุมวิทจากกรุงเทพฯถึงจังหวัดตราด ผู้คนจึงเดินทางไปเที่ยวทางตะวันออกของอ่าวไทยกันมาก เป็นเหตุให้หัวหินเงียบเหงาลง โรงแรมรถไฟประสบภาวะขาดทุนต้องให้เอกชนเข้ามาบริหารกิจการ ทำให้สถานตากอากาศหัวหิน-ชะอำเสื่อมความนิยมลงไปกว่ายี่สิบปี
หัวหินกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งจากความโดดเด่นทางด้านประวัติศาสตร์และกลิ่นอายของอดีตที่ผสมผสานกับบรรยากาศการท่องเที่ยวสมัยใหม่ อาทิ การจัดเทศกาลเพลงแจ๊ส(Jazz Festival) การสร้างร้านอาหารเพลินวานเพื่อเลียนแบบวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบโชห่วย เป็นต้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการขยายตัวของประชาการคือสภาพแวดล้อมเรื่องการบำบัดน้ำเสียและกลิ่นเหม็นบริเวณแพปลาในชุมชนสมอเรียง นอกจากนี้สวนสาธารณะสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งสร้าง 4-5ปีที่แล้ว และชาวบ้านเรียกกันแต่เดิมว่า “สวน19ไร่” บนชายฝั่งทะเลแม้จะมีห้องน้ำสาธารณะแต่ก็ไม่เปิดให้ใช้ในวันธรรมดา นายกุ้ง (นามสมมติ) อายุ 30 ปี มาจากจังหวัดสกลนครตั้งแต่พ.ศ.2539มีภรรยาเป็นชาวหัวหิน ประกอบอาชีพพ่อค้าเร่รถจักรยานยนต์พ่วงขายไอศกรีมวอลล์เล่าว่า มีการปล่อยน้ำเสียจากชุมชนลงทะเลโดยมิได้บำบัด ทำให้เกิดมลพิษส่งกลิ่นเหม็นเป็นระยะเช่นกัน
การกระโดดเข้ามาประมูลเช่าสัมปทานโรงแรมรถไฟของกลุ่มบริษัทเซนทรัลฯ
เอกชนที่เข้ามาบริหารกิจการโรงแรมรถไฟหัวหินยุคใหม่ในปีพ.ศ.2531 คือ กลุ่มบริษัทเซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด ซึ่งเข้าไปประมูลสัญญาเช่าสัมปทานโรงแรมรถไฟหัวหินในนามของบริษัทเซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนาฯร่วมกับบริษัทเซ็นทรัลดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ฯ และปรับปรุงอาคารและสถานที่ครั้งใหญ่แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นโรงแรมโซฟิเทลหัวหิน แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น"โรงแรมโซฟิเทลเซ็นทาราแกรนด์รีสอร์ทแอนด์วิลลาหัวหิน" เนื่องจากระยะหลังโรงแรมเซ็นทรัลมีโรงแรมในเครือริมทะเลด้วย แต่ลูกค้ากลับเข้าใจว่าอยู่ในเมือง สร้างความลำบากในการทำการตลาด จึงใช้ชื่อโรงแรมที่สะท้อนความเป็นไทยและมีชื่อกลุ่มเซ็นทรัลติดอยู่ คำว่า"เซ็น" มาจาก เซ็นทรัล อันเป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียงมานาน 60 ปี ส่วน "ทารา" มาจาก ธารา แปลว่าน้ำ เมื่อมารวมกันเป็นเซ็นทารา จึงหมายถึงน้ำที่เป็นแหล่งกำเนิดชีวิต (ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2312 10 เม.ย. - 12 เม.ย. 2551)
ในพ.ศ.2530 สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทย มีการพัฒนาการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ ทำให้หัวหินเป็นเมืองที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ตลาดฉัตร์ไชยก็ขยายใหญ่ขึ้น ร้านค้าสมัยใหม่เกิดขึ้นบนถนนแทบทุกสาย รีสอร์ตชั้นหนึ่งของโลกและโรงแรมห้าดาวต่างก็มาเปิดให้บริการอย่างคึกคัก
การเข้ามาปรับปรุงกิจการโรงแรมรถไฟทำให้ค่าที่พักและค่าเช่าโรงแรมรถไฟถีบตัวสูงขึ้นราวกับต้องการจะมุ่งให้บริการแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเท่านั้น ม.ร.ว.พรรธนภณ สวัสดิวัตน์ถึงกับตั้งคำถามไว้ในบทความชื่อ “หัวหินในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ความว่า “ประเทศไทยอับจนขนาดต้องเอาโรงแรมซึ่งรุ่งเรืองในพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรีถึงสองรัชกาล ออกให้เอกชนเช่าเชียวหรือ” ( ม.ร.ว.พรรธนภณ สวัสดิวัตน์ ; 2527 :82) ดังปรากฏหลักฐานว่าก่อนกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาอินเตอร์ฯจะเข้ามาบริหาร บังกะโลรถไฟมีอัตราค่าเช่าหลังละ 300-450 บาท (ม.ร.ว.พรรธนภณ สวัสดิวัตน์ : เรื่องเดิม :87) ปัจจุบันค่าเช่าบังกะโลมีอัตราหลังละประมาณ 15,000-18,000 บาท
          ปัจจุบันที่ดินในหัวหินมีราคาแพงมาก ที่ดินสวยๆติดทะเลไม่มีเหลือให้เห็นอีกแล้ว มีแต่นายทุนเข้ามาลงทุนจนหมด เจ้าหน้าที่ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่ามีฝรั่งต่างชาติเข้ามาซื้อบ้านที่หัวหินหลังละ 10-20 ล้าน นอกจากนี้ยังเข้ามาพำนักระยะยาวแบบ Long stay โดยซื้อที่ดินผ่านบริษัทหน้าหน้าอีกด้วย (www.greenzonethailand.com)
ผลกระทบต่ออาชีพของคนรากหญ้าชาวหัวหิน
          กิจการของนักธุรกิจและนักลงทุนรายใหญ่จากต่างถิ่น ได้แก่ โรงแรม รีสอร์ต สปา ภัตตาคาร ร้านอาหารขนาดใหญ่ ร้านค้าของที่ระลึก ฯลฯ เป็นต้น นักธุรกิจเหล่านี้ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่หัวหิน ชาวหัวหินส่วนหนึ่งประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลักแหล่งในตลาดฉัตร์ไชยและตัวเมืองหัวหิน อีกส่วนหนึ่งยึดอาชีพเป็นคนขายของอิสระบนชายหาดหัวหินมานาน บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นคนในท้องที่และมีสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น บางครอบครัวเคยประกอบอาชีพโพงน้ำจืดและตักน้ำจืดล้างเท้านักท่องเที่ยวซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว ส่วนอาชีพอื่นๆ ได้แก่ การให้เช่าห่วงยางซึ่งเคยเริ่มต้นจากอัตราชั่วโมงละ 2-3 บาท(ปัจจุบันไม่มีแล้ว) อาชีพให้เช่าเตียงผ้าใบซึ่งเคยออกอากาศเผยแพร่ในรายการตามไปดูจากความแปลกที่ผู้ประกอบการใช้วิธีชี้มือจองนักท่องเที่ยวที่เดินมาลงหาดปลายถนนดำเนินเกษม ซึ่งปัจจุบันการชี้มือจองนักท่องเที่ยวก็ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว กลายเป็นซุ้มให้เช่าเตียงผ้าใบและให้บริการอาหารและเครื่องดื่มบนชายหาด
อาชีพอื่นๆที่ทำให้ชายหาดหัวหินมีสีสัน คือ อาชีพหาบเร่ขายของซึ่งปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว นอกจากนี้ก็มีอาชีพรถเข็นขายปลาหมึกย่าง อาชีพขายของที่ระลึก อาชีพขายเสื้อผ้า อาชีพนวดแผนโบราณบนชายหาด อาชีพสามล้อปั่นรับจ้าง อาชีพมอเตอร์ไซค์เช่า และอาชีพรถสี่ล้อเล็กรับจ้าง เป็นต้น ในที่นี้จะกล่าวถึงอาชีพให้บริการขี่ม้าเช่าเลียบชายหาดเท่านั้น

อาชีพให้เช่าม้าขี่เลียบชายหาดหัวหิน
          การขี่ม้าเลียบหาดเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม(Cultural Identity) หมายถึงความเป็นตนอันหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของกิจกรรมท่องเที่ยวหัวหินมานาน โดยมีต้นกำเนิดมาจากรูปแบบส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวแบบดั้งเดิมของเจ้านาย ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงหัวหินแล้วบ้างก็ลงเล่นน้ำทะเล บ้างก็เดินกินลมชมวิวหรือขี่ม้าเลาะเลียบชายหาดเพื่อความสบายอารมณ์ ต่อมาการขี่ม้าเที่ยวชมชายหาดแปรเปลี่ยนมาเป็นอาชีพ" ม้าเช่า " ประจำหาดหัวหิน นายมานะสมาชิก " ชมรมม้าเช่าหัวหิน " เล่าว่า แต่ละวันที่ชายหาดหัวหินจะมีม้าเช่าประมาณ 60 ตัวเศษรอให้บริการนักท่องเที่ยว บ้างก็เดินไปกับเจ้าของม้าตามชายหาด เพื่อให้นักท่องเที่ยวเรียกใช้บริการ บ้างก็อาศัยร่มเงาต้นไม้เป็นจุดพักผ่อน บ้างก็รวมตัวกันบริเวณหน้าหาดที่ติดกับโรงแรมหรือร้านอาหาร ม้าเช่าส่วนใหญ่จะมารวมตัวกันที่บริเวณทางลงหาดหัวหิน ปลายถนนดำเนินเกษม(ข้างโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ หัวหิน ) เนื่องจากเป็นจุดที่มีนักท่องเที่ยวผ่านไปมามากที่สุด หรือตามจุดทางลงหาดอื่นๆ ก็จะมีบ้างประปราย เช่นบริเวณด้านหน้า หรือหลังเขาตะเกียบโดยมี อัตราค่าบริการ คือ 15 นาที 200 บาท/ 30 นาที 300 บาท / 1ชั่วโมง 600 บาท เปิดบริการตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น
อาชีพบริการเช่าเตียงผ้าใบและขายอาหาร-เครื่องดื่มชายหาด
: ความขัดแย้งกับเทศบาล
          แม้ชายหาดในเทศบาลเมืองหัวหินปัจจุบันจะมีความยาวเพียง 5 กิโลเมตร แต่พื้นที่บางส่วนก็ถูกปิดกั้นด้วยแพปลาและอาคารขนาดใหญ่บริเวณใกล้กับชุมชนสมอเรียง นอกจากนี้ทางลงหาดสาธารณะซึ่งมีหลายจุดก็มีขนาดเล็กและบางจุดก็ไม่มีที่จอดรถ เนื่องจากสองฟากทางเป็นสถานประกอบของธุรกิจเอกชน เช่นร้านอาหาร กิจการโรงแรมและรีสอร์ต เป็นต้น
ความขัดแย้งระหว่างเทศบาลกับผู้ให้บริการเช่าเตียงผ้าใบและบริการอาหารและเครื่องดื่มบนชายหาดด้านถนนดำเนินเกษมเกิดจากการที่ผู้ให้บริการเช่าเตียงผ้าใบชายหาดและให้บริการอาหาร-เครื่องดื่มตั้งซุ้มอาหารและให้บริการเตียงผ้าใบรุกล้ำลงไปบนชายหาดด้านหน้าบังกะโลของโรงแรมรถไฟเดิมแบบถาวร จนทำให้เหลือพื้นที่สำหรับเดินผ่านเป็นช่องเล็กๆด้านใกล้รั้วบังกะโลที่สร้างขึ้นใหม่และด้านติดทะเล นอกจากนี้ก็เหลือพื้นที่ชายหาดแต่เพียงบริเวณด้านหน้าโรงแรมรถไฟเท่านั้น ทำให้เทศบาลต้องเข้ามาดำเนินการฟ้องร้องขับไล่
เจ้าของร้านลูกชิ้นปลาทำเอง “เจ๊ใหญ่เจ้าเก่า” ริมถนนด้านเหนือของตลาดฉัตร์ไชย ให้ความเห็นสั้นๆว่าเรื่องซุ้มให้เช่าเตียงผ้าใบและบริการอาหาร-เครื่องดื่มบนชายหาดเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เทศบาลจะต้องจัดการให้เรียบร้อย เพราะเสียภาพพจน์เมืองท่องเที่ยว ซึ่งหากเรื่องนี้จะมองแบบตัวใครตัวมันก็จะเห็นว่า ปัญหาการไล่รื้อที่ทำกินที่ผู้ค้าชายหาดประสบ เป็นเรื่องที่ผู้ค้าในตลาดฉัตร์ไชยไม่เคยเผชิญ หากชายหาดหัวหินไม่มีผู้ค้าอาหารบนชายหาด ผู้ประกอบการร้านอาหารในตลาดก็จะเป็นผู้รับผลประโยชน์จากส่วนแบ่งทางการตลาดส่วนนี้ไปแทน ดังนั้นผู้ค้าบนชายหาดจะเดือดร้อนอย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องของผู้ค้าในตลาดที่จะต้องให้ความสนใจ
ความขัดแย้งบางประการระหว่างโรงแรมรถไฟกับผู้ค้าของที่ระลึกและฎีกาดับทุกข์คนรากหญ้า
แผงค้าเสื้อผ้าและของที่ระลึกสองฟากปลายถนนดำเนินเกษมแบ่งออกเป็น 2 โซน โซนเหนือ ด้านตะวันตกเป็นพื้นที่ในความดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่มีปัญหาเรื่องการไล่ที่หรือยกเลิกกรรมสิทธิ์ในสัญญา ส่วนแผงค้าที่อยู่ริมรั้วฝั่งโรงแรมรถไฟและฝั่งบังกะโลรถไฟมีปัญหาเรื่องการขับไล่โดยที่ผู้ค้าไม่ทันได้ตั้งตัว
นางสุดา (นามสมมติ) อายุ49 ปี พื้นเพเดิมเป็นชาวนครราชสีมา อยู่หัวหินมานานกว่า30ปี แต่งงานกับสามีซึ่งเป็นชาวหัวหินโดยกำเนิด โดยพ่อสามี ชื่อ นายพุ่ม (นามสมมติ) ประกอบอาชีพโพงน้ำจืดล้างเท้านักท่องเที่ยวมานานตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของการมีฐานะเป็นเมืองตากอากาศ เล่าถึงความเป็นมาของความขัดแย้งระหว่างโรงแรมรถไฟกับผู้เช่าแผงค้าเสื้อผ้าและของที่ระลึกชายหาดหัวหิน(สินค้ามาจากระยองและภูเก็ต)ว่า การค้าของที่ระลึกที่ชายหาดหัวหินในระยะแรกเริ่มจากการเข็นรถขายเปลือกหอยให้นักท่องเที่ยวเมื่อประมาณ 25 ปีก่อน ถูกเทศบาลขับไล่และจับปรับเป็นประจำ ชีวิตดำเนินไปแบบไม่มีความสุขเพราะต้องดิ้นรนเอาตัวรอดจากการกวดขันของเจ้าหน้าที่เทศบาลเป็นประจำ ในปีพ.ศ.2533 จึงไปร้องเรียนนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีขณะนั้น และนายชวน หลีกภัย ได้ขอให้โรงแรมรถไฟ(โรงแรมโซฟิเทล-ต่อมาคือโรงแรมเซนทาราแกรนด์)จัดที่ค้าขายให้แก่ผู้ค้าเร่บนแนวรางรถไฟเก่า(บนบาทวิถีปัจจุบัน) โดยโรงแรมทำสัญญาและคิดค่าเช่าเดือนละ 300 บาทเป็นค่าทำความสะอาด นางสุดา ยืนยันว่าตอนนั้นมิได้อ่านสัญญาเนื่องจากดีใจที่นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ประธานคณะผู้บริหารโรงแรมกล่าวว่า “ให้ทำมาหากินไปชั่วลูกชั่วหลาน มีอะไรก็ช่วยๆกัน เพราะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็ชอบมาซื้อของด้วย”
         ในปีพ.ศ.2551 โรงแรมฯได้เรียกผู้ค้าไปลงชื่อแล้วบอกยกเลิกเลิกสัญญาเช่าเพื่อจะใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวทำถนนคนเดิน(Walking Street) ซึ่งจะเน้นตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าระดับสูงในสังคม นางสุดาเล่าว่ามีการเจรจากันไปมาระยะหนึ่งแล้วจู่ๆก็เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้แผงค้าของผู้เช่าพื้นที่ของบาทวิถีโรงแรมจำนวน 15 ห้อง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 จนต้องขอบริจาคเงินเพื่อนำไปซ่อมหลังคาแผงค้า และก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติร่วมบริจาคด้วย ต่อมาผู้เช่าทั้งหมดก็ถูกฟ้องดำเนินคดีข้อหาบุกรุก
เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ค้าแผงเช่าได้รวมตัวกันเพื่อต่อสู้รักษาสิทธิในการค้าบนพื้นที่เดิม แต่ผู้ค้าบางรายก็ยอมรับค่าชดเชยแล้วประกอบอาชีพที่อื่น แนวทางการต่อสู้เริ่มจากการไปขอความช่วยเหลือจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายสมศักดิ์ เขียวขำ สมาชิกสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งก็ได้ประสานความช่วยเหลือด้านต่างๆเป็นอย่างดี ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ และเทศบาลไม่รับเรื่องร้องทุกข์ และแนวโน้มจะปิดถนนก็มีค่อนข้างมาก
         ต่อมาผู้ค้ากลุ่มนี้ได้ยื่นเรื่องถวายฎีกาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้“คุณปุ๊ก” (ข้าราชการระดับสูงของวังไกลกังวล) มาติดตามเรื่องราวความเดือดร้อน ส่งผลให้ทางโรงแรมเริ่มเข้ามาขอไกล่เกลี่ย คณะกรรมการไกล่เกลี่ยฯประกอบด้วยผู้แทนจากสภาทนายความ 2 คน ผู้แทนจากโรงแรม 3 คน ผู้แทนจากผู้ค้า 6 คน (นำโดยนางสุดา นางพร นางบัว นายชัย นายกฤษณ์.และนายเลิศ)

บทสรุป ข้อคิดเห็นและนวัตกรรม
         โดยหลักการทั่วไปทรัพยากรชายหาดหัวหินและพื้นที่ถนนดำเนินเกษมเป็นสมบัติของสาธารณชนที่ประชาชนขาวไทยทุกคนสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจได้ และวัฒนธรรมการค้าขายอาหาร เสื้อผ้า ของที่ระลึก ให้เช่าเตียงผ้าใบ ขี่ม้าชายหาดและผู้ค้ารายย่อยระดับรถเข็นแผงลอย เป็นอาชีพที่อยู่คู่กันมากับแหล่งท่องเที่ยวประเภทสถานตากอากาศชายทะเลที่ตอบสนองความต้องการทางกายภาพแก่นักท่องเที่ยวระดับล่างที่ไม่สามารถจะเข้าไปพักในโรงแรมหรือเข้าไปนั่งในห้องอาหารหรูหราชายทะเลดังเช่นคนมีเงินทั้งหลายได้มาช้านาน และวัฒนธรรมการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มบนชายหาดเช่นนี้แก่นักท่องเที่ยวก็มีอยู่ตามชายหาดทั่วโลก โดยมีวิธีการจัดการกับสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำรงอยู่ การขับไล่ผู้ค้าเหล่านี้ออกจากชายหาดนอกจากจะเป็นการทำลายโอกาสในการประกอบสัมมาชีพของคนเหล่านี้แล้ว ยังอาจเป็นการปิดกั้นไม่ให้คนด้อยโอกาสในสังคมอีกจำนวนมากได้เข้าไปสัมผัสบรรยากาศชายทะเลของหัวหินแบบที่สามารถนั่งกินลม ชมวิวชายทะเลและลิ้มรสอาหารทะเลท่ามกลางเสียงคลื่นและสายลมได้ดังเดิมด้วย ซึ่งจะทำให้สิ่งที่เหลืออยู่คือการสงวนพื้นที่กินและอยู่อาศัยริมชายหาดกรายๆให้แก่ผู้มีอันจะกินแล้วก็ “แสร้งสรรค์” โหยหาวิถีชายหาดแบบดั้งเดิมที่หลงเหลือให้เห็นแต่เพียงในพิพิธภัณฑ์บางแห่งหรือในตลาดจำลองชีวิตและความเป็นอยู่ของอดีตแบบอุทยานความคิด(Theme Park) ที่ร้านเพลินวานริมถนนเพชรเกษม ซึ่งเจ้าของวัฒนธรรมตัวจริงนั้นได้ละทิ้งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไปแล้วตามการเปลี่ยนแปลงกาลเวลา และในอนาคตหากนักท่องเที่ยวระดับล่างอยากจะทำกิจกรรมปิกนิก ถ้าไม่ห่อข้าวมาเองก็ต้องออกไปหาอาหารกินกันที่ร้านอาหารนอกชายหาดอย่างขาดอรรถรส
การยอมรับวิถีดั้งเดิมของชาวหัวหินไม่ควรจะยึดแต่เพียงกรอบคิดที่ว่าหัวหินเป็นเมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียงมายาวนาน สภาพแวดล้อมทุกชนิดที่ถูกมองว่าเสื่อมโทรมจะต้องถูกกำจัดออกไปจากชายหาดทั้งหมด โดยอ้างว่าเทศบาลได้จัดแหล่งค้าขายแห่งใหม่ให้เรียบร้อยแล้ว หากแต่ต้องมีการแก้ไขปัญหาระยะยาวด้วยการสร้างสันติธรรมและความชอบธรรมให้เกิดขึ้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบ ควรมีการสร้างอาคารสำหรับค้าขายในบริเวณเดิมโดยดัดแปลงให้เข้ากับบรรยากาศอย่างกลมกลืน ดังเช่นที่ปฏิบัติต่อชาวบ้านในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ชาวเลและชาวเกาะในพื้นที่เกาะแก่ง และคนบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือ และการจัดการพื้นที่เชิงบูรณาการในอุทยานประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากร เป็นต้น
          การแบ่งสรรพื้นที่บางส่วนของบังกะโลรถไฟซึ่งอันที่จริงนั้นดูเหมือนจะสร้างรั้วเพิ่มล้ำออกมาในชายหาดเดิมเกือบครึ่งหนึ่งของชายหาดที่มีอยู่ในขณะนี้ ดังนั้นการมีกระบวนการจัดสรรผลประโยชน์ที่โปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย น่าจะช่วยให้เกิดความปรองดองและเป็นการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีสันติสุขแก่ราษฎรชาวหัวหินส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นสันหลังของอุตสาหกรรมการบริการบนชายหาดอย่างยั่งยืน และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความขัดแย้งระหว่างนายทุนใหญ่กับผู้ค้ารายย่อยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินในพื้นที่ใกล้ที่ตั้งของวังไกลกังวลแท้ๆ คนรากหญ้าเหล่านี้จึงหวังพึ่งพระบรมโพธิสมภารให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ดับทุกข์ของพวกเขา ซึ่งเป็นทุกข์ที่เกิดจากการกีดกันขับไล่พวกเขาออกไปจากขุมทรัพยากรท่องเที่ยวของแผ่นดิน
ผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ค้ารายย่อยกับนายทุนใหญ่อันนำมาสู่ความขัดแย้งกัน มิได้เป็นความขัดแย้งอย่างไม่มีทางออกเลยเสียทีเดียว เพราะพอจะมีทางจะประนีประนอมกันได้
           หากใช้วิธีการพึ่งพาอาศัยกันและทุกฝ่ายปรับค่านิยมให้ตรงกับข้อเท็จจริงว่านักท่องเที่ยวมีความต้องการสัมผัสและเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปจากชีวิตประจำวันของตน มิใช่มุ่งเข้ามาใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟู่ฟ่าแต่เพียงอย่างเดียว


บรรณานุกรม
กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเล่ม 1 . พิมพ์ครั้งที่8. กรุงเทพฯ:
ชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทยจำกัด, 2534
กรรณิการ์ ตันประเสริฐ,แพทย์หญิง. จดหมายเหตุวังไกลกังวล สมัยรัชกาลที่ 7.
ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ: มติชน,2546.
เทศบาลเมืองหัวหิน, เรื่องเล่าชาวหัวหิน, ประจวบคีรีขันธ์: ปราณนิวส์, 2549..
บัณฑิต จุลาสัย,รองศาสตราจารย์ดร. โฮเต็ลหัวหินแห่งสยามประเทศ พิมพ์ครั้งที่ 2
กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2541.
พฤทธิสาณ ชุมพล,หม่อมราชวงศ์. หัวหินและวังไกลกังวลสมัยรัชกาลที่ 7.กรุงเทพฯ:
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า
รำไพพรรณี,2542.
พรรธนภณ สวัสดิวัตน์,หม่อมราชวงศ์.”หัวหินในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช” ใน ศิลปวัฒนธรรม
6 เมษายน, 2527.
พูนพิศมัย ดิศกุล,หม่อมเจ้า. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ภาคจบ. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ พิมพ์
ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ,มติชน,2546.
รมณียฉัตร แก้วกิริยา,หม่อมราชวงศ์. , “ดาราชายหาด” คนละคร , ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระวรวศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2541.
สงวน อั้นคง สิ่งแรกในเมืองไทย พิมพ์ครั้งที่2 พระนคร :แพร่พิทยา,2514
สรศัลย์ แพ่งสภา.ราตรีประดับดาวที่หัวหิน. กรุงเทพฯ: สารคดี,2539.
สุกัญญา ไชยภาษี, เที่ยวหัวหินถิ่นผู้ดี100ปีเมืองตากอากาศสยาม, กรุงเทพฯ
โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮาส์จำกัด, 2551
http://www.huso.buu.ac.th , www.hua hin hub.com , www.greenzonethailand.com
Gordon Marshall, The concese oxford Dictionary of Sociology, oxford and New York :
oxford university Press 1994
และข้อมูลจากการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ค้าของที่ระลึกและเสื้อผ้าแผงลอยบริเวณหน้าโรงแรมรถไฟ เมื่อวันที่12 สิงหาคม 2552

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สตี : พิธีบูชายัญตนเองของหญิงหม้ายในอินเดีย

งานวิจัยในชั้นเรียนเรื่องการใช้ผังมโนทัศน์