ครูของแผ่นดิน


โดย อาจารย์ ศิริน โรจนสโรช

          พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรีนับแต่อดีตกาลมาทรงสนับสนุนพลเมืองให้แสวงหาความรู้เพื่อประโยชน์ของตนและชาติบ้านเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ และรัชกาลปัจจุบันก็ทรงใฝ่เรียนรู้ และทรงสนับสนุนให้ประชาชนเรียนรู้ทั้งในระบบโรงเรียนและการเรียนรู้ตลอดชีวิต


          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใฝ่เรียนรู้และทรงพระปรีชาสามารถรอบรู้ศาสตร์หลายสาขา ผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเล่าว่า โปรดการเป็นครู การค้นคว้าวิจัย

         “...เวลานี้ญี่ปุ่นเขาขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งแล้ว เขาเริ่มมีนักวิทยาการคิดสร้างเครื่องใช้ที่จะเป็นประโยชน์แก่โลกขึ้นแล้ว ส่วนประเทศสยามเราจะต้องมุ่งให้ถึงขีดเท่าเขาเหมือนกัน เราจะเรียนแต่เอาอย่างเท่านั้นไม่ได้ ต้องเรียนคิดเองด้วยจึงจะเจริญแท้...”

(พระราชดำรัสพระราชทานแก่นักเรียนอุปชาติปีมะเส็ง

ณ พระราชวังสราญรมย์ วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒

ว่าด้วยลักษณะเอาอย่าง )

          ด้วยพระราชอุปนิสัยใฝ่รู้ จึงโปรดการแสวงหาความรู้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ที่สำคัญคือ ทรงเรียนรู้จากหนังสือ และจากประสบการณ์ที่ทรงได้รับ เมื่อทรงศึกษาที่วิทยาลัยอีตัน ทรงพระอุตสาหะวิริยะในการอ่านและเขียน เพื่อฝึกการใช้ภาษา และทรงหาความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน โปรดทรงพระอักษร (อ่านหนังสือ) ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ด้วยความสนพระทัย การอ่านจึงทรงรอบรู้ศาสตร์หลายสาขา แต่แม้ว่าจะโปรดการอ่านหนังสือ ก็ยังทรงเห็นว่าหนังสือไม่สามารถแก้ปัญหาบางประการได้ เพราะความรู้อาจเกิดจากแหล่งอื่น เช่น จากประสบการณ์ จึงโปรดการทดลอง ค้นคว้า การทรงหาประสบการณ์จากภาพยนตร์ วิทยุ และการเสด็จประพาสที่ต่างๆ ทรงเล่าเรื่องการทดลองวิทยุกระจายเสียงไว้ว่า

          “… เดี๋ยวนี้เขาตั้งต้นทดลองตั้งแต่ย่ำค่ำ แต่ส่งโปรแกรมจริงๆเวลา ๒ ทุ่ม และเสียงชัดดีขึ้นมาก เดี๋ยวนี้มีคนมาจากร้าน Phillips มาตั้งเครื่องกระจายเสียงใหม่ที่โฮเต็ลพญาไทย มีกำลัง ๒๐ Kilowatt และ studio ก็ทำเกือบแล้ว บางทีฉันจะได้เปิดสถานีก่อนไปอะเมริกา...”

(พระราชหัตถเลขาพระราชทานพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์

สุประภาต ฉบับที่ ๒๓ วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๓ )

          ด้วยความสนพระทัยเรื่องเครื่องยนต์กลไกและเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร จึงทรงศึกษาจากหนังสือ ทรงถามผู้ชำนาญ และทรงทดลองใช้เอง กล้องถ่ายภาพและภาพยนตร์จำนวนมากที่ทรงสะสมไว้ สะท้อนให้เห็นพระราชอุปนิสัยโปรดการถ่ายภาพและภาพยนตร์ และยังได้ทรงนำสื่อต่างๆเหล่านี้มาใช้ในการฝึกเยาวชน ภาพยนตร์ทรงถ่ายมีเนื้อหาทั้งที่เป็นสารคดี และบันเทิงคดี ในจำนวนภาพยนตร์เหล่านี้ ภาพยนตร์เรื่อง “ แหวนวิเศษ” นอกเหนือจากแสดงถึงพระราชอัจฉริยภาพในการสร้างโครงเรื่อง กำกับภาพ ลำดับฉาก และอำนวยการแสดงแล้ว ในระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้แสดงซึ่งเป็นเด็กในพระราชอุปการะก็ได้รับการฝึกฝนเรื่องคุณธรรมด้านต่างๆ ได้แก่ การดูแลปกป้องภัยให้แก่กัน เมตตาธรรม การทำดีได้ดี และการไม่หลงอำนาจเวทมนตร์ โปรดทอดพระเนตรภาพยนตร์ร่วมกับเด็กๆ และยังได้พระราชทานคำอธิบายเกี่ยวกับลักษณะดีชั่วที่แฝงอยู่ในเนื้อหาของสื่อเหล่านี้ให้เด็กๆได้เรียนรู้ เช่น หลักศีลธรรม ความสามัคคี มีวินัย มีน้ำใจนักกีฬา ความมัธยัสถ์อดทน และรักษาสิ่งแวดล้อม ทรงเป็นแบบอย่างของผู้ที่รู้จักคิดวิเคราะห์หาเหตุผล พระมหากรุณาธิคุณในการทรงสั่งสอนเยาวชน ปรากฎชัดเจนเมื่อเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งแสดงถึงความสนพระทัยการศึกษาของชาติ ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทเป็นการทรงอบรมเยาวชน และพระราชทานความรู้ในด้านต่างๆ เช่น

          “... การกีฬานั้นมีประโยชน์ทางหัดนิสสัย โรงเรียนอังกฤษมุ่งฝึกหัดนิสสัยยิ่งกว่าสิ่งใดหมด การเล่นเกมนั้นทำให้กำลังบริบูรณ์ และกล้าหาญเราก็ย่อมทราบกันอยู่แล้ว แต่นอกจากนั้นยังมีผลยิ่งขึ้น ด้วยเกมที่เลือกนั้นมักต้องเลือกเกมที่เล่นหลายคน เช่น ฟุตบอลล์ คริกเก็ต เป็นต้น เพื่อจะฝึกเด็กให้รู้จักการรักเหล่าคณะ ให้รู้จักช่วยเพื่อน การเล่นเกมไม่ใช่เล่นตัวคนเดียว เช่น เล่นฟุตบอลล์ ไม่ควรแย่งชุตโกล์เสียคนเดียว ตรงกันข้าม ถ้าเห็นคนอื่นอยู่ในที่ดีกว่า เราต้องส่งลูกไปให้ ที่ฝึกหัดให้รู้จักประโยชน์ของส่วนใหญ่ยิ่งกว่าพยายามแสดงความเก่งของตัวคนเดียว... “

(พระราชดำรัสพระราชทานแก่อาจารย์ ครู และนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ในวันงานรื่นเริงประจำปีของโรงเรียน วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๑ ว่าด้วยความเป็นนักกีฬา )

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ก็ทรงมีความเป็นครูในพระราชอุปนิสัยเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็น “ทูลกระหม่อมอา” ที่ทรงเคารพ ทรงเปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถครอบคลุมศาสตร์หลายสาขา ทรงศึกษาวิทยาการอย่างลึกซึ้ง และกว้างขวางด้วยวิธีการต่างๆ โดยทรงยึดหลักการว่า ความรู้ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต้องเป็นความรู้ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ ผู้เรียนรู้ ต้องรู้ลึกซึ้งถึงแก่นของความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของสิ่งต่างๆ ต้องรู้จักสะสม ถ่ายทอด และพัฒนาเพิ่มพูน ปรับแนวคิดและทฤษฎีที่เป็นสากลให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ทรงแสวงหาความรู้ด้วยการสังเกต ทดลอง วิจัย ทรงสอบถามเพิ่มเติมจากผู้ชำนาญและราษฎร นับเป็นวิธีการฝึกฝนพระองค์เองเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาด้านต่างๆดังความในพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

          “...ผู้เป็นครูต้องฝึกฝนตนเองให้แตกฉาน และแม่นยำชำนาญ ทั้งในวิชาความรู้และวิธีสอน เพื่อสามารถสั่งสอนให้อย่างกระจ่างและถูกต้องสมบูรณ์...”

(พระราชดำรัสวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๔)

          พระคุณลักษณะความเป็นครูอีกประการหนึ่ง คือ ความมีพระราชหฤทัยกว้าง ทรงรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น ทรงใช้วิธีปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องและราษฎรในพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ทรงสามารถใช้ภาษาที่เรียบง่ายสื่อสารกับราษฎร ทำให้เกิดความเข้าใจได้ไม่ยาก ดังที่มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาเทิดพระเกียรติยศในฐานะที่ทรงเป็น “นักนวัตกรรมทางการสื่อสาร” ด้วยเหตุผลที่ว่าทรงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยการคิดค้นทฤษฎีใหม่ๆ ที่ทรงสร้างขึ้นจากบริบทความเป็นไทย และทรงสื่อสารให้เข้าถึงกระแสจิตของคนไทยทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้นอย่างไร้พรมแดน ทรงเป็นแบบอย่างการถ่ายทอดความรู้ด้วยวิธีการปฏิบัติหรือสาธิตให้ดูเพื่อผู้เรียนจะเกิดความเข้าใจลึกซึ้ง

          “... ความสำเร็จทั้งสิ้นเกิดขึ้นได้เพราะลงมือกระทำ ดังนั้นผู้ที่ชำนิชำนาญทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ จึงจัดว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน และมีขีดความสามารถสูง เป็นที่เชื่อใจและวางใจได้ว่าจะดำเนินงานทั้งปวงอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสามารถทำงาน สั่งงาน และสั่งคนได้อย่างถูกต้องแท้จริง (พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบัน

เทคโนโลยีพระจอมเกล้า วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ )

          ทรงใช้วิธีการสอนแบบให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันใช้ความรู้ ความสามารถให้เป็นประโยชน์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ตามวิถีประชาธิปไตย สอดคล้องกับแนวคิดการศึกษาสมัยใหม่ ใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คือ ราษฎรในโครงการ และทรงใช้สื่อประกอบ

          “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เป็นศูนย์ที่รวบรวมกำลังทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ทุกกรมกอง ทั้งในด้านการเกษตร ด้านสังคม การส่งเสริมการศึกษาร่วมอยู่ด้วยกัน ก็หมายความว่า ประชาชน ซึ่งจะต้องใช้วิชาการทั้งหลาย ก็สามารถที่จะมาดูแลและศึกษาได้ ส่วนเจ้าหน้าที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่ประชาชน ก็จะอยู่พร้อมกันในที่เดียวกัน ซึ่งเป็นสองด้าน ก็หมายถึงว่า ที่สำคัญปลายทาง คือ ประชาชนจะได้รับประโยชน์ และต้นทาง คือ ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่จะให้ประโยชน์” (พระราชดำรัสในการเสด็จฯ เยี่ยมโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนา

พิกุลทอง วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๖ )

          ในการส่งเสริมการเรียนรู้แก่ประชาชนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน พระราชทานความสำคัญแก่การใช้สื่อการศึกษาต่างๆ เช่น หนังสือ มีพระราชดำริว่า

          “ หนังสือเป็นการสะสมความรู้ และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมาทำมา คิดมาแต่โบราณกาลจนทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นคล้ายๆธนาคารความรู้ และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้... “

(พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศในโอกาสที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ )

          โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เป็นตัวอย่างการที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการอ่าน ด้วยพระราชดำริที่ว่า หนังสือสารานุกรมประกอบด้วยสรรพวิชาการที่เป็นสาระครบทุกแขนง มีประโยชน์ต่อการศึกษา เพิ่มพูนสติปัญญาของประชาชนทุกระดับวัย จึงทรงริเริ่มจัดทำเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๑ โดยมีคณะกรรมการดำเนินงานและจัดพิมพ์เล่มแรก เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๖ นอกจากนี้ยังทรงริเริ่มจัดตั้งห้องสมุดศาลารวมใจในหมู่บ้านชนบทที่ห่างไกล เพื่อเป็นที่อ่านหนังสือของเด็กๆและประชาชน และพระราชทานหนังสือประเภทต่างๆแก่ห้องสมุดด้วย

          ในโอกาสที่มีผู้เข้าเฝ้าฯ และในการเสด็จพระราชดำเนินสถานศึกษาต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสแก่บุคคลเหล่านั้น ซึ่งนับเป็นการสอนแก่ผู้ที่ได้เฝ้าฯโดยตรง พระบรมราโชวาท พระราชดำริเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนทางด้านคุณธรรม จริยธรรม และการพัฒนาสังคม

          “... การที่มีการสอนในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชนี้ก็ต้องนำหรือสอดส่องในทางที่จะได้ความรู้มาโดยถูกต้องและสามารถนำไปใช้อย่างถูกต้อง ให้เกิดประโยชน์แน่วแน่ ข้อนี้ก็ต้องชี้แจงเหมือนกัน ไม่ใช่สักแต่ว่าสอนให้มีความรู้ไปแต่ว่าจะต้องแนะนำ จะใช้คำว่าสอนก็คงไม่ชอบ ถ้าใช้คำว่าอบรมก็คงไม่ชอบ โดยมากคนเราไม่ชอบให้ใครอบรม ไม่ชอบให้ใครสอน แต่ว่าชอบให้แนะนำ ก็ควรจะแนะนำให้สามารถที่จะใช้ในทางที่ถูกต้อง ที่ดี ที่เป็นประโยชน์...”

( พระราชดำรัสในโอกาสที่ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นำนายมงคล กาญจนพาสน์ ทูลเกล้าฯถวายโฉนดที่ดิน เพื่อพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๔ )

           จากพระคุณลักษณะความเป็นครูในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองรัชกาลนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชากรใต้ร่มพระบารมีอย่างประมาณค่ามิได้ สมควรถวายพระเกียรติยศ ว่าทรงเป็น “ครูของแผ่นดิน” อย่างแท้จริง.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สตี : พิธีบูชายัญตนเองของหญิงหม้ายในอินเดีย

งานวิจัยในชั้นเรียนเรื่องการใช้ผังมโนทัศน์

การวิเคราะห์ และเปรียบเทียบจิตรกรรมฝาผนังภาพสุริยุปราคา