สิทธิสตรีกับการปรับเปลี่ยนมายาคติของคำว่า "นางสาว" และ "นาง" ในสังคมไทย

ขอบคุณภาพจิตรกรรมวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน จาก oceansmile.com

โดย ฉัตรบงกช  ศรีวัฒนสาร

          มายาคติ หมายถึง การสื่อความหมายที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความหมายใดความหมายหนึ่งด้วยคติความเชื่อจากวัฒนธรรมและถูกกลบเกลื่อนให้เป็นที่รับรู้เสมือนว่าเป็นธรรมชาติ  โดยทำให้คนในสังคมวัฒนธรรมนั้นคุ้นเคยกับความหมายของสิ่งนั้นจนไม่ทันสังเกตหรือตั้งคำถามว่า ความหมายนั้นเป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นทางวัฒนธรรมหรือเป็นธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ เช่น มายาคติว่าด้วย "เพศหญิง" ในสังคมไทยจะให้ความหมายของความเป็นผู้หญิงว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ผู้หญิงเป็นเพศที่ต้องการการปกป้องดูแล เป็นต้น  
       ในเชิงพฤติกรรม จะเห็นได้ว่าการสั่งน้ำส้มมาดื่มเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิง หรือนางเอก  การสั่งสุราหรือเบียร์เป็นสัญลักษณ์ของผู้ชาย  ขณะเดียวกันก็เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า สีชมพูเป็นสีสำหรับเพศหญิง  สีฟ้าเป็นสีสำหรับเพศชาย  ส่วนสีม่วงเป็นสีแทนสถานภาพแม่หม้าย หรือสื่อถึงความผิดหวัง แต่ปัจจุบันสีม่วงก็ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกความสนใจทางเพศเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น

         สถานะความเป็น "ลูก" "ภรรยา" "แม่" และความเป็นพลเมืองของผู้หญิง
         ผู้หญิงทุกคนล้วนเคยอยู่ในสถานะของการเป็น "ลูก" ทั้งสิ้น เมื่อถึงวัยมีครอบครัวก็จะก้าวสู่สถานะใหม่ คือ การเป็น "ภรรยา" และหากผู้หญิงคนใดมีลูกแล้วก็ต้องก้าวสู่สถานะของการเป็น "แม่" โดยรับภาระดูแลลูกและสามีตามสิทธิที่กฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีในสังคมรับรอง  ทั้งนี้ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะได้อยู่ในสถานะทั้งสามอย่างครบถ้วน  ผู้หญิงบางคนหากมิได้แต่งงานก็ใช้คำนำหน้านามเป้น "นางสาว" ไปตลอดชีพ

         ในด้านสถานภาพของการเป็นพลเมืองนั้นเป็นสิ่งที่มีมาแต่กำเนิด  สังคมไทยในอดีตแบ่งคนออกเป็น ชนชั้นสูง และสามัญชน  การศึกษาเรื่องสถานะของผู้หญิง นอกจากจะพิจารณาใน 4 สถานะ คือ สถานะ ลูก ภรรยา แม่ และพลเมือง แล้ว  ในแต่ละสถานะยังต้องคำนึงถึงกลุ่มชนชั้นที่ผู้หญิงสังกัดด้วย
ผุ้หญิงที่เติบโตในกลุ่มที่ต่างกัน อาจจะมีสิทธิ หน้าที่ ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ไม่เหมือนกัน  สำหรับชนชั้นสูงโดยเฉพาะผู้หญิง การมีคู่ครองที่ยศศักดิ์ต่ำกว่านับเป็นความอัปยศและไม่สมควร  ทำให้ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยต้องตกในฐานะภรรยารอง เช่น เป็นเจ้าจอมของพระมหากษัตริย์ หม่อมห้ามของเจ้านาย  หรืออนุภรรยาของขุนนาง  สำหรับสถานะภรรยาของหญิงสามัญ ดูเหมือนจะต่างออกไปจากกลุ่มชนชั้นสูง  เพราะสามีต้องมีพันธะถูกเกณฑ์แรงงานตามระบบไพร่  ทำให้ภรรยาต้องหาเลี้ยงครอบครัวแทน  ยิ่งมีฐานะยากจนต้องมีส่วนรับผิดชอบและทำงานหนักหาเลี้ยงครอบครัวทัดเทียมกับผู้ชาย
         นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลของพุทธศาสนาที่มีต่อสถานะของผู้หญิง  คือ  ความเชื่อเรื่อง บุญ กรรม  และการเวียนว่ายตายเกิด  แนวความคิดดังกล่าว จะเป็นแนวทางในการอธิบายความแตกต่างด้าน ชาติกำเนิด  ฐานะ และปัญหาในการดำเนินชีวิต  ซึ่งฐานะของหญิงตามความเชื่อในไตรภูมิโลกวินิจฉัยกถานั้น ดูเหมือนว่าจะมีสถานภาพต่ำกว่าชาย  คือ มีการระบุว่าผู้หญิงที่มีฐานะเป็นพระราชธิดา  เบื่อหน่ายความเป็นหญิง ตั้งความปรารถนาว่าจะเป็นชาย  ในที่สุดก็ไปเกิดเป็นโคกปกเทวบุตรในฐานะโอรสของพระอินทร์   หรือ ภาพของเทพธิดาบนสวรรค์ก็เป็นบริวารของเทพบุตร

         ในนิทานชาดกหรือวรรณกรรมหลายเรื่องเคยปรากฎมายาคติเชิงตำหนิติเตียนผู้หญิงว่า "โลเล ไม่ซื่อสัตย์ต่อสามี เอาตัวรอด มีมารยาหลายร้อยเล่มเกวียน"  เช่น นางวันทอง นางโมราและนางกากี เป็นต้น  สังเกตได้ว่าผู้หญิงในฐานะภรรยามักถูกตำหนิ   ขณะที่ผู้หญิงในฐานะแม่ กลับได้รับการยกย่องเชิดชู อิทธิพลของพุทธศาสนาเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้สร้างบุญกุศล เพื่อจะเป็นทางออกอย่างหนึ่งทำให้รู้สึกว่าไม่ถูกกดดันกับสภาพที่เป็นอยู่มากนัก

         หลักฐานประชุมประกาศปลายสมัยรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2411) เรื่องประกาศพระราชบัญญัติลักษณะลักพา" กล่าวถึง ผู้หญิงชื่อ อำแดงเหมือน อายุ 21 ปี  ทูลเกล้าฯถวายฎีกาว่าเป็นลูกสาวของนายเกศ กับอำแดงนุ่ม อยู่บ้านบางม่วง แขวงเมืองนนทบุรี  มีความทุกข์ร้อนเพราะบิดามารดาบังคับใจทุบตีให้เป็นภรรยาของนายภู ขณะที่อำแดงเหมือนรักใคร่ชอบพอกับนายริดมาก่อน  เธอจึงหนีมาถวายฎีกาขอพระบารมีปกเกล้าฯเป็นที่พึ่ง  รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ตัดสินให้หยิงนั้นเลือกสามีได้ตามสมัครใจ  เพราะมีอายุมากถึงยี่สิบปีเศษแล้ว  แต่ให้ชายชู้คือ นายริดเสียเบี้ยละเมิดให้บิดามารดาหญิงหนึ่งชั่ง หรือยี่สิบตำลึง และเสียเบี้ยปรับให้แก่นายภู ผู้มีสินสอดมาสู่ขออีกสิบตำลึง รวมเป็นเงิน สามสิบตำลึง นับเป็นระยะแรกๆ ของการให้สิทธิสตรีในสังคมไทย

          เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกไหลบ่าเข้ามาหลังการปฎิรูปประเทศครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ความคิดเกี่ยวกับบทบาทและสถานภาพของผู้หยิงที่มีการศึกษาเริ่มแพร่หลายขึ้น  สอดคล้องกับสถานะการเป็นภรรยา และแม่ที่มีประสิทธิภาพ  ดังทัศนะของเทียนวรรณ ปัญญาชนร่วมสมัยที่สะท้อนออกมาจากในงานเขียนของเขาว่า
         "...ถ้าเป็นแม่หญิงดีควรมีความรู้ได้เล่าเรียน  ได้เป็นแม่ศรีเรือน แบ่งเบาภาระอันเป็นธุระหนักเบาไปจากบุรุษ...ต่ำสุดช่วยทานหนังสือ...สูงสุดช่วยเรียงความได้ แลได้สั่งสอนบังคับบุตรให้มีกิริยามารยาทรู้วิชาที่ควรรู้ก่อน..." (ตุลวิภาคพจนกิจ 8 ตุลาคม รศ.124 )
         ต่อมาเมื่อผู้หญิงใช้คำนำหน้านามว่า "นางสาว" ในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็เป็นที่ทราบว่า "เธอยังเป็นโสด"  ทำให้ชายอาจแสดงกิริยา"เกี้ยวพาราสี"ได้อย่างสะดวกใจโดยไม่ต้องเกรงว่าจะละเมิดศีลธรรม

          ครั้นผู้หญิงเปลี่ยนคำนำหน้านามจาก "นางสาว" ไปเป็นคำว่า "นาง" ก็เป็นที่ทราบได้ว่า "เธอไม่ใช่คนตัวเปล่าเล่าเปลือย"  ถือเป็นเกราะคุ้มกันทางสังคมที่ทำให้ผู้ชายทั่วไปปฏิบัติต่อเธอแบบให้เกียรติและไม่ใคร่จักโน้มเอียงไปในเชิงชู้สาว ด้วยเกรงจะเสื่อมเสียศีลธรรม  แต่ในขณะเดียวกันทางจิตวิทยาเชิงสังคมธุรกิจ  บางครั้งผู้หญิงที่มีคำนำหน้านามว่า "นางสาว" มักจะได้รับการตอบรับจากนายจ้างมากกว่า
ผู้หญิงที่มีคำนำหน้านามว่า "นาง"  ซึ่งมักจะถูกมองด้วยมายาคติว่า มีภาระครอบครัวอุ้ยอ้ายไม่คล่องตัว  อาจไม่สามารถทุ่มเทเวลาและความรู้ความสามารถให้หน่วยงานได้อย่างเต็มที่  ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ    ในสมัยอดีตจนปัจจุบัน การที่ผู้ชายยังคงใช้คำนำหน้านามว่า "นาย"  อยู่ตลอดแม้จะสมรสแล้ว ถูกมองจากกลุ่ม Post -Modern ว่า เป็นการเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ  จึงเป็นที่มาของพระราชบัญญัติ คำนำหน้าหญิง พ.ศ. 2551 ตามมาตรา 4 กล่าวว่า หญิงซึ่งมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้ใช้คำนำหน้านามว่า "นางสาว" ส่วนมาตรา 5  สำหรับหญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว จะใช้คำนำหน้านามว่า "นาง" หรือ "นางสาว" ได้ตามความสมัครใจ และตามมาตรา 6 สำหรับหญิงที่จดทะเบียนสมรสแล้ว ต่อมาเมื่อการสมรสสิ้นสุดลงสามารถเลือกใช้ คำนำหน้านามว่า "นาง" หรือ "นางสาว" ได้ตามความสมัครใจ  โดยให้แจ้งแก่นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยชื่อบุคคล  พระราชบัญญัตินี้ประกาศเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 และมีผลบังคับใช้หลัง 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

          ผลการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว  ด้านหนึ่งอาจทำให้ผู้หญิงที่เคยสูยเสียโอกาสในสังคมกลับมาได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้น  แต่ในอีกด้านหนึ่งหากผู้หญิงที่แต่งงานแล้วยังใช้คำนำหน้านามว่า "นางสาว" อยู่ อาจเป็นเหตุให้ชายเข้าใจผิดว่า "ยังโสด" หรือ "หัวใจยังว่าง" และเข้ามาติดพันจนอาจก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากเชิงศีลธรรมได้เช่นกัน

        ในสังคมประชาธิปไตย  การที่ผู้หญิงจะใช้คำนำหน้านามว่า "นางสาว" หรือ "นาง"  ก็เป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล  ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงหลักศีลธรรมอันดีงามด้วย การอยู่ในกรอบศีลธรรมข้อ 3 คือ ห้ามประพฤติผิดในกาม เป็นปัจจัยสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยดำรงอยู่อย่างสงบสุขและยั่งยืน  การเลือกที่จะได้รับการยกย่องอย่าง "แม่พลอย" ในวรรณกรรมเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ที่เธอเป็นทั้งลูก ภรรยา และแม่ที่ดีน่าจะยังไม่ล้าสมัยสำหรับสตรีในสมัยปัจจุบัน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สตี : พิธีบูชายัญตนเองของหญิงหม้ายในอินเดีย

งานวิจัยในชั้นเรียนเรื่องการใช้ผังมโนทัศน์

การวิเคราะห์ และเปรียบเทียบจิตรกรรมฝาผนังภาพสุริยุปราคา